7.เทคนิคการผสมเทียม

               บทที่ 7 เทคนิคการผสมเทียม (Artificial insemination; A.I.)       

       การผสมเทียม หมายถึง การรีดน้ำเชื้อจากสัตว์พ่อพันธุ์แล้วนำไปฉีดเข้าในอวัยวะของสัตว์ตัวเมียที่ แสดงอาการของการเป็นสัด ซึ่งทำให้สัตว์ตัวเมียเกิดการตั้งท้องแล้วคลอดออกมาตามปกติ
                            ภาพที่ 1 แสดงลักษณะการผสมเทียมในโค
            การผสมเทียมเป็นการปฏิบัติงานที่คล้ายการทำหน้าที่ของพ่อพันธุ์ตามธรรมชาติ ต่างกันเพียงปริมาณน้ำเชื้อที่ใช้ผสมเทียมน้อยกว่าปริมาณน้ำเชื้อจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติมาก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ผสมติด ตำแหน่งที่ปล่อยน้ำเชื้อก็ต่างกัน โดยพ่อพันธุ์จะปล่อยน้ำเชื้อที่ช่องคลอด (Vagina) แต่การผสมเทียมจะปล่อยน้ำเชื้อที่ตำแหน่งตัวมดลูก (body of uterus) เป็นส่วนใหญ่
         เทคนิคการผสมเทียมในปัจจุบัน วิธีที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ การสอดหลอดฉีดน้ำเชื้อผสมเทียมเข้าทางช่องคลอด (Vagina) ผ่านคอมดลก (Cervix) แล้วเข้าไปปล่อยน้ำเชื้อในตำแหน่งตัวมดลูก (Body of uterus) หน้าคอมดลูกด้านใน (Internal os) โดยใช้มืออีกข้างล้วงทางทวารหนักช่วยประคองคอมดลูกและช่วยให้หลอดฉีดน้ำเชื้อผ่านเข้าปากมดลูกเข้าถึงตัวมดลูก และหยุดในตำแหน่งหน้าคอมดลูกด้านใน แล้วฉีดปล่อยน้ำเชื้อทั้งหมด ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า rectovaginal หรือ rectocervical method ซึ่งแต่เดิมใช้วิธีการวางหลอดน้ำเชื้อตรงช่องคลอดแล้วปล่อยน้ำเชื้อหน้าคอมดลูก ร่วมกับการใช้เครื่องถ่างปากมดลก (speculum) แต่อัตราการผสมติดไม่ดีนักจึงไม่เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน โดยวิธีการผสมเทียมในสัตว์ใหญ่ มีวิธีการพื้นฐาน 3 ประการ คือ

1. วิธีผสมเทียมโดยฉีดน้ำเชื้อเข้าช่องคลอด (Vaginal insemination)          
       เป็นวิธีแบบดั้งเดิม วิธีทําก็คือ สอดท่อผ่านช่องคลอดแล้วฉีดเชื้อบริเวณหน้าคอมดลูก ซึ่งวิธีนี้เป็นการเลียนแบบการผสมธรรมชาติ ให้ผลดีพอควรถ้าใช้ปริมาณของตัวอสุจิมากพอ ปัจจุบันน้ำเชื้อผสมเทียมมักผลิตให้มีจํานวน 10 ล้านตัวต่อหลอด จึงให้ผลในการผสมติดไม่ดีนัก

2. วิธีผสมเทียมโดยฉีดน้ำเชื้อเข้าคอมดลูก (Cervical insemination)               
       เป็นวิธีที่ใช้เครื่องถ่างขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. และยาว 35-40 ซม. สอดช่องคลอด และใช้ไฟฉายติดศีรษะผู้ปฏิบัติงานส่องดูคอมดลูก หลังจากนั้น สอดท่อฉีดเชื้อเข้าสู่รูเปิดของคอมดลูกซึ่งปกติสามารถสอดเข้าไปได้ 1-2 ซม. แล้วปล่อยน้ำเชื้อตรงบริเวณนี้ ซึ่งวิธีการนี้ดีกว่าวิธีการแรกที่กล่าวมา แต่ผลการผสมติดยังด้อยกว่าวิธีที่ 3 ข้อเสียคือต้องทําความสะอาดอุปกรณ์หลายชิ้น
           รูปภาพที่ 2 แสดงการผสมเทียมในคนด้วยวิธี Cervical insemination

ตารางภาพที่1 แสดงขั้นตอนการผสมเทียมแพะด้วยวิธี Cervical insemination

 1.จัดเตรียมอุปกรณ์                                        2.ล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอก       3.ยกขาหลังแพะขึ้นพาดกับซองบังคับ   

  4.ละลายน้ำเชื้อแช่แข็งในน้ำอุ่น                5.ใส่หลอดน้ำเชื้อในปืนผสมเทียมให้พร้อม         6.ทาเจลหล่อลื่นที่ตัวถ่างช่องคลอ

 7.ใช้ตัวถ่างช่องคลอดถ่างช่องคลอด        8.สอดปืนผสมเทียมเข้าที่คอมดลู









9.แสดงจุดที่ปล่อยน้ำเชื้อในคอมดลูกแพt


3. วิธีผสมเทียมโดยฉีดน้ำเชื้อเข้าตัวมดลูก (Recto-vaginal insemination)
                                                  
รูปภาพที่ 3 การผสมเทียมด้วยวิธี  Recto-vaginal insemination
        เป็นวิธีง่ายที่นิยมกันมากที่สุด แต่ผู้ปฏิบัติงานควรได้รับการฝึกหัดจนชํานาญเพียงพอ วิธีการคือใช้มือซ้ายหรือมือขวาแล้วแต่ความถนัด สวมถุงมือพลาสติกและหล่อลื่นด้วยน้ำสบู่หรือสารหล่อลื่น ล้วงผ่านทวารหนักเพื่อหาตำแหน่งของคอมดลูก (Cervix) และจับไว้ ซึ่งส่วนของคอมดลูกจะมีลักษณะแน่นแข็งต่างจากส่วนของช่องคลอด (Vagina) กับมดลูก (Uterus) หลังจากนั้นสอดปืนผสมเทียม (Insemination gun หรือ AI gun) ผ่านเข้าช่องคลอด จนสัมผัสกับคอมดลูก แล้วสอดผ่านคอมดลูกออกไปสู่ตัวมดลูก แล้วทำการปล่อยน้ำเชื้อตรงบริเวณตัวมดลูกนี้

เทคนิคการผสมเทียมโค
          เมื่อได้เวลาที่เหมาะสมสำหรับการผสมเทียม ก่อนทำการผสมเทียมต้องตรวจดูโคให้แน่นอนก่อนว่ามีการเป็นสัดที่แท้จริง ซึ่งแม่โคที่เป็นสัดจะต้องยืนนิ่งให้ตัวอื่นปีนทับ และมีเมือกใสไหลจากช่องคลอด  เมื่อพบว่าโคเป็นสัดจริงแล้ว ให้ล้วงตรวจระบบสืบพันธุ์ผ่านทางทวารหนัก เพื่อตรวจดูสภาพของคอมดลูก (Cervix) ตัวมดลูก (Body of Uterus) ปีกมดลูก (Horn of Uterus) และรังไข่ (Ovaries) โดยคอมดลูกควรแข็ง ตัวมดลูกและปีกมดลูกควรแข็งตึงมีความหยุ่นตัวสูง รังไข่ข้างใดข้างหนึ่งควรพบ Graafian follicle หากผู้ทำการผสมเทียมไม่ชำนาญในการล้วงคลำรังไข่ก็ไม่ควรไปคลำ เนื่องจากจะทำให้ปากแตรของท่อนำไข่ที่หุ้มรังไข่หลุดออกจากรังไข่ ส่งผลให้ไข่ตกลงไปในช่องท้องไม่ตกลงท่อนำไข่ ทำให้ผสมไม่ติด หรืออาจเกิดปัญหาตั้งท้องในช่องท้อง เมื่อล้วงตรวจแล้วล้างบริเวณอวัยวะเพศภายนอกด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้ง จึงทำการละลายน้ำเชื้อ และเตรียมปืนฉีดน้ำเชื้อพร้อมที่จะผสมเทียมต่อไป
เวลาที่เหมาะสมในการผสมเทียมในโค
หลังจากฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่ตัวมดลูก (Body of Uterus) แล้ว อสุจิจะใช้เวลาในการเดินทางไปถึงท่อนำไข่ เป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะเร็ว และลักษณะช้า อสุจิที่เคลื่อนที่ถึงท่อนำไข่ลักษณะเร็ว จะตายทั้งหมดและถูกขับออกทาง fimbria ของท่อนำไข่และตกลงช่องท้อง ส่วนอสุจิที่เคลื่อนที่ถึงท่อนำไข่ลักษณะช้า จะเป็นอสุจิที่เข้าทำการปฏิสนธิ ซึ่งจะเริ่มพบอสุจิที่ยังแข็งแรงพร้อมที่จะทำการปฏิสนธิได้ในท่อนำไข่ส่วน Ampulla ประมาณ 10 ชั่วโมง หลังผสมเทียมและพบมากที่สุดประมาณ 24 ชั่วโมงหลังผสมเทียม
              รูปภาพที่ 4 แสดงช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับผสมเทียมโคที่เป็นสัด

ตำแหน่งที่ฉีดน้ำเชื้อในโค
          ในการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติพ่อโคจะปล่อยน้ำเชื้อที่ส่วนของช่องคลอด (Vagina) หน้าคอมดลูก (Cervix) แต่ในการผสมเทียม ปริมาณตัวอสุจิที่ใช้จะน้อยกว่าการผสมตามธรรมชาติมาก หากปล่อยน้ำเชื้อที่ตำแหน่งช่องคลอดอาจทำให้ผสมต่ำ  
         ในการผสมเทียมตำแหน่งที่ปล่อยน้ำเชื้อ คือที่ตัวมดลูก (Body of uterus) และภายในคอมดลูก (cervix) โดยปล่อยน้ำเชื้อปริมาณ 2 ใน 3 ที่ตัวมดลูก (Body of Uterus) เลยส่วนของ internal os ประมาณ 1 cm. จากนั้นถอยปืนฉีดน้ำเชื้อออกมาให้ปลายปืนอยู่ในคอมดลูกและปล่อยน้ำเชื้อที่เหลืออีก 1 ใน 3 ของหลอดในส่วนของคอมดลูก (Cervix)
               
    รูปภาพที่ 5 แสดงการปล่อยน้ำเชื้อโคในตัวมดลูก

น้ำเชื้อแช่แข็งที่ใช้ในการผสมเทียมโค               
             ปัจจุบันการผสมเทียมโคนิยมผสมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งเพราะสะดวกในการขนส่งและเก็บรักษา สามารถนำน้ำเชื้อไปทำการผสมเทียมได้ทุกแห่ง น้ำเชื้อแช่แข็งที่ผลิตโดยกรมปศุสัตว์ หลอดน้ำเชื้อจะเป็นหลอดขนาดเล็ก (Ministraw) ปริมาตร 0.25 ml. มีตัวอสุจิในหลอดประมาณ 20-30 ล้านตัว โดยหลังจากละลายน้ำเชื้อ(Thawing) แล้วจะมีอสุจิที่ยังมีชีวิตไม่น้อยกว่า 40 % หรือประมาณ 8-12 ล้านตัว ซึ่งมากพอที่จะเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ได้ น้ำเชื้อแช่แข็งจะเก็บรักษาโดยแช่ในไนโตรเจนเหลวตลอดเวลา ไนโตรเจนเหลวจะมีอุณหภูมิ -196 °C ในบางประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น หลอดน้ำเชื้อจะเป็นหลอดขนาดกลาง (Medium straw) ปริมาตร 0.5 ml. มีตัวอสุจิในหลอดประมาณ 20-30 ล้านตัว หลังจากละลายน้ำเชื้อแล้วจะมีอสุจิที่ยังมีชีวิตไม่น้อยกว่า 40 % หรือประมาณ 8-12 ล้านตัว เช่นเดียวกัน
                                      
                        รูปภาพที่ 6 ลักษณะรูปแบบของน้ำเชื้อแช่แข็งและการเก็บรักษา
 วัสดุอุปกรณ์ผสมเทียมในโค
ในการผสมเทียมต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ มากพอสมควร อุปกรณ์แต่ละอย่างหากบำรุงรักษาไม่ดี หรือใช้งานไม่ถูกวิธีจะทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์นั้นสั้นลง หรืออาจก่อให้เกิดปัญหาผสมไม่ติดตามมาได้ ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจถึงลักษณะวิธีใช้และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เข้าใจ
                    รูปภาพที่ 7 แสดงวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการผสมเทียมในโค

ขั้นตอนการผสมเทียมโดยวิธี Recto vaginal insemination ในโค
    
     การผสมเทียมในโคมีขั้นตอนหลักใหญ่ๆ 3 ขั้นตอนด้วยกัน ซึ่งพอจะสรุปหลักการผสมเทียมและขั้นตอนที่ควรปฏิบัติต่างๆ ได้ดังนี้
     1. การเตรียมโคก่อนผสมเทียม
     2. การเตรียมอุปกรณ์ผสมเทียมและการละลายน้ำเชื้อ

     3. การสอดท่อผสมเทียมในการผสมเทียม 
1.  การเตรียมโคก่อนผสมเทียม       
        เมื่อมีแจ้งโคเป็นสัดพร้อมรับการผสมเทียม เจ้าหน้าที่ผสมเทียมควรเข้าฟาร์มตามเวลาที่เข้าใจตรงกันคือ โคที่พบการเป็นสัดช่วงเช้าให้แจ้งผสมตอนบ่าย และโคที่พบแสดงการเป็นสัดช่วงบ่ายและค่ำให้แจ้งทำการผสมเทียมในเช้าวันถัดไป เจ้าของสัตว์ควรให้โคอยู่อย่างสงบสบาย โดยอาจให้ยืนรอในโรงที่จะทำการผสมหรือคอกพักที่อากาศเย็นสบาย มีร่มเงา มีน้ำกิน และคอกต้องแห้งสะอาด เจ้าของควรทำความสะอาดโคโดยเฉพาะส่วนบนท้ายให้สะอาดและแห้ง เมื่อเวลาเจ้าหน้าที่ผสมเทียมมาถึง ผู้ผสมเทียมต้องตรวจประวัติอาการเป็นสัดจากบันทึกประจำฟาร์มและสอบถามอาการจากเจ้าของโค
       เมื่อได้เวลาผสมเทียมควรบังคับสัตว์ให้อยู่ในซอง มือที่จะล้วงทวารซึ่งมักจะเป็นมือซ้ายให้สวมถุงมือพลาสติกยาว ทําการควักอุจจาระออกมาโดยเริ่มต้นจากการสอดนิ้ว 2-3 นิ้วเข้าไปทางทวารหนักก่อนเพื่อให้ลมเข้าไปในทวารหนักทําให้วัวเบ่งอุจจาระและขับถ่ายออกมา ล้างปากช่องคลอดและบริเวณใกล้เคียงด้วยน้ำสะอาด และใช้สบู่ถูส่วนสกปรกมาก แล้วล้างน้ำสบู่ออกด้วยน้ำเปล่าให้หมด หลังจากนั้นใช้กระดาษชําระเช็ดให้แห้ง และทําการล้วงตรวจระบบสืบพันธุ์ทางทวารหนัก โดยโคที่เป็นสัดจริง (Oestrus) มดลูกต้องมีการแข็งเกร็งตัวมากกว่าระยะที่ไม่เป็นสัด (Dioestrus) และมีเมือกใสค่อนข้างเหนียวไหลออกจากช่องคลอดหรือติดตามบั้นท้าย เมือกจะเหนียว เมื่อใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับมายืดออกจะไม่ขาดจากกัน เมื่อแน่ใจว่าโคเป็นสัดจริงและไม่ตั้งท้อง ให้ถอดมือออกมาจากทวารหนักของโคและล้างถุงมือให้สะอาด แล้วถอดออกให้เป็นรูปนิ้วมืออย่างเป็นระเบียบเพื่อนํามาใช้อีกครั้ง หลังจากนั้นจึงเตรียมอุปกรณ์การผสมเทียมและทําการเลือกน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่จะใช้ผสมเทียม ซึ่งมีขั้นตอนการเตรียมโคเพื่อรอผสมเทียม ดังนี้

1. สังเกตอาการภายนอก โคที่เป็นสัดจะยืนนิ่งให้ตัวอื่นปีนทับ มีเมือกใสที่มีลักษณะเหนียวข้นไหลจากช่องคลอด อวัยวะเพศบวมแดง

 รูปภาพที่ 8 แสดงลักษณะของโคที่กำลังเป็นสัด

2. สวมถุงมือผสมเทียมแล้วเคลือบด้วยสารหล่อลื่นเพื่อความง่ายต่อการล้วง เช่น ใช้สบู่ถูถุงมือแล้วล้วงผ่านทางทวารหนัก เป็นต้น ทำการล้วงอุจจาระออกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนปลายให้หมด ตรวจคลำระบบสืบพันธุ์ของแม่โคว่า แม่โคเป็นสัดจริงหรือไม่โดยโคที่เป็นสัดจริงมดลูกต้องมีการแข็งเกร็งตัวมากกว่าระยะที่ไม่เป็นสัด
 

 รูปภาพที่ 9 การล้วงตรวจเพื่อเช็คโคเป็นสัด

3. ล้างบริเวณอวัยวะเพศภายนอกของแม่โคด้วยน้ำให้สะอาดและเช็ดทั้งด้านนอกด้านในให้แห้งด้วยกระดาษทิชชู หรือกระดาษฟาง
รูปภาพที่ 10 การล้างทำความสะอาดบั้นท้ายโคที่พร้อมรับการผสมเทียม
                
                      วิดีโอที่ 2 การผสมเทียมโคเนื้อโดยเกษตรกรอาสาผสมเทียม


2. การเตรียมอุปกรณ์ผสมเทียมและการละลายน้ำเชื้อ
 1) การเตรียมอุปกรณ์ผสมเทียม อุปกรณ์ผสมเทียมที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนเข้าฟาร์ม คือ
      1. ปืนผสมเทียมหรือหลอดฉีดน้ำเชื้อ (Insemination gun หรือ AI gun) ซึ่งมีแกนไส้เหล็กท่อของหลอดฉีดน้ำเชื้อที่มีขนาดหลอดน้ำเชื้อขนาด 0.25 มล. ใช้กับหลอดน้ำเชื้อแช่แข็งขนาด 0.25 มล. ส่วนท่อฉีดน้ำเชื้อขนาด 0.5 มล. ใช้กับหลอดน้ำเชื้อแช่แข็งขนาด 0.5 มล. และมีหลอดฉีดน้ำเชื้อบางรุ่นที่มีขนาดปลายท่อทั้ง 2 ขนาด โดยจะอยู่ปลายคนละด้านของท่อ ดังนั้น ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้องกับขนาดของหลอดน้ำเชื้อที่จะใช้ด้วย ห่วงวงแหวนกลมสําหรับสวมอยู่ปลายก้านหลอดฉีดน้ำเชื้อเพื่อช่วยยึดให้พลาสติกชีทให้แน่นติดหลอดฉีดน้ำเชื้อและไม่เลื่อนออกเมื่อดันแกนไส้ในฉีดไล่น้ำเชื้อออก ชุดปืนผสมเทียมนี้ต้องทำความสะอาดเป็นประจำโดยเฉพาะหลังใช้ในการผสมเทียมแต่ละครั้ง
      2. กระติกน้ำร้อน เพื่อใช้เตรียมน้ำอุ่นขนาดความสูงเพียงพอที่ระดับน้ำอุ่นท่วมหลอดน้ำเชื้อเพื่อประสิทธิภาพการละลายน้ำเชื้อให้ทั่วถึง
      3. ปรอท (Thermometer) เพื่อใช้วัดอุณหภูมิน้ำในกระติก
      4. กรรไกรที่คมสะอาด ไว้สำหรับตัดหลอดน้ำเชื้อ
      5. ปากคีบ (Forceps) สําหรับหยิบจับหลอดน้ำเชื้อแช่แข็งจากถังเก็บน้ำเชื้อ
      6. ผ้าหรือกระดาษชำระที่สะอาด ไว้ใช้เช็ดหลอดน้ำเชื้อให้แห้งก่อนบรรจุลงหลอดฉีดน้ำเชื้อหรือปืนผสมเทียม
      7. ถังเก็บน้ำเชื้อแช่แข็งขนาดเล็ก ข้างในบรรจุไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) โดยในถังจะมีหลอด (Canister) บรรจุน้ำเชื้อแช่แข็งที่มีก้านเกาะปากถัง เพื่อความสะดวกในการยกขึ้น-ลงเมื่อต้องการเลือกหยิบน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่ต้องการ โดยระดับไนโตรเจนเหลวในถังต้องมีระดับสูงท่วมหลอดน้ำเชื้อเสมอ
      8. สารหล่อลื่นถุงมือ (Lubricant) ซึ่งอาจจะเป็นเจลหรือสบู่ก็ได้
      9. สมุดจดบันทึก เพื่อบันทึกการใช้น้ำเชื้อและบันทึกการทํางานของผู้ผสมเทียม


  รูปภาพที่ 11 แสดงอุปกรณ์ผสมเทียมและการเตรียมความพร้อมก่อนออกไปฟาร์ม

2) การเตรียมน้ำเชื้อแช่แข็งเพื่อการผสมเทียม
     1. เตรียมอุปกรณ์ผสมเทียมที่สะอาดให้พร้อม ผสมน้ำอุ่นในกระติกให้มีอุณหภูมิที่ 37 องศาเซลเซียส โดยใช้ปรอทวัดอุณหภูมิน้ำและตรวจสอบอุณหภูมิทุกครั้งก่อนการเริ่มละลายน้ำเชื้อแช่แข็ง
     2. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดปากคีบ (forceps) ให้สะอาดก่อนใช้คีบ เปิดฝาถังน้ำเชื้อแช่แข็งแล้วคีบหลอดน้ำเชื้อที่ต้องการออกจากถังสนาม แล้วแช่น้ำเชื้อลงในน้ำอุ่นที่อุณหภูมิ 35-37 °C ทันทีเป็นเวลา 30 วินาที และเวลาตั้งแต่คีบหลอดน้ำเชื้อจนถึงแช่ลงในน้ำอุ่นไม่ควรเกินกว่า 15 วินาที



รูปภาพที่ 12 แสดงการคีบน้ำเชื้อแช่แข็งใส่น้ำอุ่น
     4. เมื่อละลายหลอดน้ำเชื้อในน้ำอุ่นครบ 30 วินาที ให้ใช้มือหยิบหลอดน้ำเชื้อขึ้นเช็ดด้วยสำลีหรือกระดาษทิชชูที่ชุบแอลกอฮอล์ ให้หลอดน้ำเชื้อแห้งสะอาดและไม่ควรสัมผัสตรงบริเวณที่จะตัดหลอด ตรวจสอบชื่อพ่อพันธุ์ที่ข้างหลอดอีกครั้ง แล้วสอดลงปลายหลอดฉีดน้ำเชื้อโดยให้ส่วนปลายหลอดน้ำเชื้อด้านที่มีจุกด้ายปิดใส่เข้าไปในหลอดฉีดน้ำเชื้อก่อน ตั้งหลอดฉีดน้ำเชื้อขึ้นแล้วดันก้านฉีดเลื่อนออกให้หลอดน้ำเชื้อถอยเข้าภายในหลอดฉีดน้ำเชื้อให้เหลือเฉพาะส่วนปลายพ่นกระบอกฉีด จะสังเกตเห็นฟองอากาศเคลื่อนอยู่ตรงปลายด้านบนสุดของหลอดน้ำเชื้อ
     5. ยกหลอดฉีดน้ำเชื้อตั้งขึ้นในระดับสายตา แล้วใช้กรรไกรที่สะอาดตัดปลายหลอดน้ำเชื้อที่พ้นกระบอกฉีดน้ำเชื้อมาในแนวตั้งฉากกับหลอดน้ำเชื้อหรือตรงตําแหน่งฟองอากาศ เพื่อเมื่อสวมหลอดพลาสติกชีทเข้าหลอดฉีดน้ำเชื้อจะสวมพอดีกับปลายปลอกหุ้ม เมื่อฉีดน้ำเชื้อจะได้ไม่ไหลย้อนกลับ หรืออาจจะนําหลอดน้ำเชื้อสอดเข้าที่พลาสติกซีทก่อนก็ได้
 
  
รูปภาพที่ 13 การเช็ดหลอดให้สะอาดและการสวมพลาสติกชีท
     
      6. ทดสอบน้ำเชื้อโดยกดก้านปืนให้น้ำเชื้อปริ่มออกมาที่ปลายหลอดเล็กน้อย เพื่อมั่นใจว่าหากทำการผสมเทียมน้ำเชื้อจะไหลออกไปด้านนอกไม่ไหลย้อนกลับเข้าในพลาสติกชีท โดยสอดปลายพลาสติกชีทผ่านวงแหวนแล้วเลื่อนวงแหวนมาปิดล็อคไว้ให้แน่นเพื่อไม่ให้พลาสติกชีทเคลื่อนที่เมื่อดันแป้นของก้านฉีดน้ำเชื้อ แล้วสวมแซนนิตารี ชีทหุ้มปืนอีกชั้น เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนนี้ถือว่าพร้อมที่จะทําการผสมเทียมแล้ว

 
รูปภาพที่ 11 การทดสอบการไหลของน้ำเชื้อและสวมแซนนิตารี ชีทที่พร้อมผสมเทียมแล้ว

3. การสอดท่อผสมเทียมในการผสมเทียม
      ในผสมเทียมครั้งแรกนั้นสามารถวางตําแหน่งท่อผสมเทียมหน้าคอมดลูกด้านในได้เลย แต่กรณีผสมครั้งที่สองในการเป็นสัดรอบถัดไป แนะนําให้ปล่อยน้ำเชื้อที่กลางคอมดลูก เนื่องจากโคอาจตั้งท้องแล้วแต่ยังแสดงการเป็นสัดให้เห็นอีก ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการทําให้แท้งโดยวางท่อผสมเทียมที่คอมดลูกได้ ในระยะเป็นสัดคอมดลูกจะเปิดประกอบกับมีเมือกมากทําให้การสอดท่อผสมเทียมผ่านคอมดลูกทําได้ง่าย ในแม่โคที่เคยมีปัญหาคลอดยากที่เกิดความเสียหายต่อคอมดลูกอาจพบคอมดลูกคดทําให้สอดท่อผ่านลําบากหรือผ่านไม่ได้ ควรระมัดระวังการสอดท่อผสมเทียมคือการนําท่อผสมเทียมไปวางหน้าคอมดลูกแล้วประคองคอมดลูกเข้าหาท่อผสมเทียม ไม่ใช่นําท่อผสมเทียมสอดให้ผ่านคอมดลูกเพราะอาจเกิดความเสียหาย หรือฟกช้ำต่อคอมดลูก หรือทะลุผ่านช่องคลอดเข้าช่องท้องได้ แม่โคที่อายุมากผ่านการคลอดมาหลายครั้งคอมดลูกจะโตและอาจหย่อนตกลงทําให้การสอดท่อผสมเทียมทําได้ยากขึ้น โดยมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
    

      1. ควรรักษาเล็บให้สั้นอยู่เสมอและต้องสวมถุงมือทกุครั้งเพื่อป้องกันตัวเอง ควรใช้ถุงมือล้วงที่มีคุณภาพดีและนุ่ม
      2. หันด้านข้างของผู้ทําการผสมเทียมเข้าหาโคและระมัดระวังตัวทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการเตะของโคที่ไม่เชื่อง
      3. หล่อลื่นถุงมือล้วงถึงส่วนแขนด้วยเค-วายเจล หรือใช้น้ำสบู่ก็ได้
      4. ค่อยๆ สอดมือเข้าทางทวารโดยทำมือเป็นกรวยแล้วสอดเข้าไป
      5. เมื่อข้อมือผ่านทวารเข้าไปแล้วให้เริ่มหาคอมดลูก หากมีอุจจาระในลำไส้ใหญ่มากให้เอาอุจจาระออกก่อนการล้วงหาคอมดลูกทุกครั้ง หลังจากพบคอมดลูกแล้วให้ตรวจเช็คว่าเป็นสัดจริงหรือไม่ โดยการตรวจการแข็งเกร็งตัวของมดลูก
     6. หลังจากตรวจสอบว่าเป็นสัดจริงแล้ว ให้ทำความสะอาดปากช่องคลอดด้วยใช้กระดาษชำระหรือผ้าแห้ง โดยการใช้อุ้งมือดันมาทางทวารหนักเพื่อช่วยให้ปากช่องคลอดเปิดออก ให้เช็ดปากช่องคลอดให้สะอาดและแห้ง เป็นการลดการปนเปื้อนเมื่อสอดหลอดฉีดน้ำเชื้อหลังจากละลายน้ำเชื้อและใส่ในปืนผสมเทียมแล้ว ให้สวมถุงมือและล้วงผ่านทางทวารหนักอีกครั้ง ขณะล้วงอาจใช้มืออีกข้างกําหางไว้ ถ้าในลําไส้ใหญ่ยังคงมีอุจจาระให้ล้วงออกให้เกลี้ยงที่สุด หลังจากนั้นให้หาตําแหน่งของคอมดลูก ซึ่งผู้ผสมเทียมควรฝึกล้วงหาคอมดลูกให้ชํานาญก่อนทําการผสมเทียมจริง โดยคอมดลูกมักจะวางตัวอยู่บนผนังด้านล่างของเชิงกราน หาได้โดยกวาดนิ้วขวางพื้นเชิงกรานจะพบคอมดลูกมีลักษณะแข็ง เมื่อพบคอมดลูกแล้วก็จะสามารถหาตําแหน่งของตัวมดลูกและปีกมดลูกได้ง่ายขึ้น ซึ่งในแม่โคที่อายุมากอวัยวะสืบพันธุ์จะทอดลึกเข้าไปมากกว่าโคอายุน้อย ในแม่โคที่มีมดลูกเป็นหนองหรือโคตั้งท้องอวัยวะสืบพันธุ์จะยิ่งอยู่ลึกเข้าไปถึงช่องท้อง เมื่อพบคอมดลูกแล้วให้จับไว้ด้วยนิ้วโป้ง นิ้วชี้และนิ้วกลาง
     7. สอดหลอดฉีดน้ำเชื้อผสมเทียมที่เตรียมไว้ ผ่านทางช่องคลอดโดยอย่าให้สัมผัสสิ่งสกปรกที่ปากช่องคลอดหรืออุจจาระโดยท่อสอดขึ้นทำมุม 35–45 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้หลอดพลาดไปเข้ากระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีรูเปิดที่พื้นของช่องคลอด เมื่อผ่านหลอดฉีดน้ำเชื้อเข้าช่องคลอดไปได้แล้ว ให้ยกระดับขึ้นขนานกับแนวคอมดลูกซึ่งจะขนานแนวสันหลังโค และให้ควบคุมคอมดลูกเพื่อให้ปืนผสมเทียมผ่านเข้าไปได้ โดยดันคอมดลูกไปทางด้านหน้าเพื่อไม่ให้พื้นช่องคลอดมีรอยย่น ทำการสอดสอดปืนผสมเทียมเข้าไปจนปลายสัมผัสปากมดลูก แล้วดึงปืนผสมเทียมออกมาประมาณ 1 นิ้ว หลังจากนั้นกำรอบปากมดลูกตรงส่วนท้ายด้วยนิ้วโป้งและนิ้วอีก 2 นิ้ว ทำการดันปืนผสมเทียมเข้าเบาๆ โดยนิ้วโป้งและอีก 2 นิ้วของมือที่ล้วงควรอยู่ตำแหน่งปลายปืนผสมเทียม ในระหว่างที่สอดใส่ควรใช้ความนุ่มนวลและไม่ควรฝืนในการสอดท่อผสมเทียมเพราะอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือทะลุได้ เนื่องจากคอมดลูกมีรอยย่น(annular ring) ภายในมากมาย ดังนั้นจึงต้องสอดท่อผสมเทียมขึ้น-ลงเพื่อให้ผ่านรอยย่นเหล่านี้ บางครั้งรูเปิดของคอมดลูกไม่ได้อยู่ตรงกลาง จึงควรใช้นิ้วชี้ของมือที่ล้วงคลำหาปลายของหลอดผสมเทียมเพื่อที่จะตรวจดูว่าท่อปืนผสมเทียมได้ผ่านเข้าสู่คอมดลูกแล้ว ให้สอดท่อปืนเข้าสู่ช่องเปิดของคอมดลูก และใช้มือซ้ายช่วยพยุงในการสอดปลายท่อปืนผ่านตามรอยหยักภายในคอมดลูก ขณะที่สอดท่อผ่านคอมดลูกนั้น นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือก็เคลื่อนไปข้างหน้าตามการเคลื่อนของท่อปืนที่สอดเข้าไปด้วย ความลึกของท่อปืนที่สอดเข้าไปจะรู้สึกได้จากความแข็งของท่อปืนที่คลําผ่านคอมดลูก ใช้นิ้วนําทางให้ท่อผสมเทียมผ่านคอมดลูกออกไปสู่ตัวมดลูก ส่วนตัวมดลูกจะยื่นออกประมาณ ¾ นิ้วจากปลายเปิดด้านในของคอมดลูก เมื่อสอดท่อปืนมาถึงด้านหน้ามดลูกแล้วให้หยุดที่ตําแหน่งนั้น และไม่ควรดึงท่อผสมเทียมออกจากช่องคลอดถ้ายังไม่ได้ฉีดน้ำเชื้อ เพราะการสอดท่อใหม่อีกครั้งหนึ่งจะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้



รูปภาพที่ 14 แสดงลักษณะการสอดหลอดน้ำเชื้อและการเข้าหาโคเพื่อผสมเทียมที่ถูกต้อง

     8. เมื่อถึงบริเวณที่ปล่อยน้ำเชื้อแล้วให้ดันน้ำเชื้อออกช้าๆ โดยให้ดันที่แกนด้านในของท่อผสมเทียมใช้เวลาอย่างน้อย 5-8 วินาทีเพื่อให้แน่ใจว่าได้ดันน้ำเชื้ออออกไปจากท่อจนหมด ในการผสมครั้งแรกแนะนําให้ฉีดเชื้อไว้บริเวณตัวมดลูก (body of the uterus) ในการผสมซ้ำครั้งต่อมาในโคตัวเดิมซึ่งอาจตั้งท้องแล้ว ควรจะฉีดเชื้อไว้ที่กลางท่อคอมดลูกเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดกับตัวอ่อนที่อยู่ในมดลูก ในโคบางตัวที่ไม่สามารถสอดท่อผสมเทียมผ่านคอมดลูกได้ ให้ฉีดน้ำเชื้อปล่อยไว้ที่คอมดลูกเลย ไม่ควรฝืนใช้แรงดันท่อผสมเทียมไม่ว่ากรณีใดๆ ผลที่ได้ใกล้เคียงกับการฉีดน้ำเชื้อที่ตัวมดลูก หลังจากฉีดเชื้อแล้วให้ดึงท่อผสมเทียมและมือที่ล้วงทวารหนักออกช้าๆ และถอดถุงมือออกโดยพลิกด้านในออกมาพับไว้ และมือที่ล้วงทวารหนักกําที่อวัยวะเพศเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้มดลูกเกิดการหดตัว จะทำให้เปอร์เซ็นต์ผสมติดสูงขึ้น
     9. ใช้มือที่ล้วงทวารหนัก ประคองคอมดลูกมาสวมเข้ากับปลายหลอดฉีดน้ำเชื้อ อย่าสอดหลอดน้ำเชื้อเข้าหาปากมดลูกโดยเด็ดขาด เพราะอาจแทงทะลุช่องคลอดได้
    10. จัดการให้คอมดลูกผ่านหลอดฉีดน้ำเชื้อให้ตลอดคอมดลูก โดยการดึงคอมดลูกขึ้น-ลงเพื่อให้หลอดฉีดน้ำเชื้อผ่านรอยย่นที่คอมดลูกไปได้

รูปภาพที่ 15 แสดงลักษณะการดึงคอมดลูกขึ้น-ลงเพื่อให้หลดฉีดน้ำเชื้อผ่านคอมดลูกไปได้
      11. เมื่อหลอดฉีดน้ำเชื้อผ่านคอมดลูกเข้าไปในตัวมดลูก ให้ใช้นิ้วชี้สัมผัสปลายหลอดฉีดน้ำเชื้อในตัวมดลูก ส่วนหน้าของคอมดลูกด้านใน (Internal os of cervix) ยื่นปลายหลอดเข้าไปในตัวมดลูกประมาณ 1 ซม. ให้ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งฉีดปล่อยน้ำเชื้อ ทําการดันแกนไส้ในหลอดฉีดน้ำเชื้อเพื่อดันน้ำเชื้อให้หมดหลอดภายใน 5-8 วินาที ในตำแหน่งนี้
     12. หากไม่แน่ใจว่าโคที่ผสมท้องหรือไม่ ให้สอดหลอดฉีดน้ำเชื้อเพียง 2/3 ของคอมดลูกแล้วปล่อยน้ำเชื้อในตำแหน่งคอมดลูกได้เลย
     13. เมื่อผสมเทียมเสร็จแล้ว ให้ถอดมือออกจากทวารพร้อมถอยหลอดฉีดน้ำเชื้อออกจากช่องคลอด และถอดถุงมือออกโดยพลิกด้านในออกมาพับไว้ก่อนทิ้งถังขยะ
     14. ปลดวงแหวนที่ล็อคพลาสติกชีทออกแล้วดึงพลาสติกชีทออกจากตัวหลอดฉีดน้ำเชื้อโดยจะมีหลอดน้ำเชื้อติดอยู่ส่วนปลายของพลาสติกชีท
     15. ตรวจสอบชื่อพ่อพันธุ์ที่หลอดน้ำเชื้อและทําการลงบันทึกในสมุดบันทึกการผสมเทียม และการ์ดผสมเทียมประจําตัวโค ณ ฟาร์มเจ้าของสัตว์
     16. เก็บพลาสติกชีท หลอดน้ำเชื้อ ถุงมือล้วงทิ้งถังขยะ และทําความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ผสมเทียม เก็บอุปกรณ์ในที่เก็บอุปกรณ์การผสมเทียม แล้วทําความสะอาดรองเท้าบู๊ทและตัวของผู้ผสมเทียมให้สะอาด ก่อนเดินทางไปผสมเทียมในฟาร์มต่อไป
 
                               รูปภาพที่ 16 แสดงลักษณะการปล่อยน้ำเชื้อในการผสมเทียม
รูปภาพที่ 17 แสดงจุดปล่อยน้ำเชื้อที่ตัวมดลูกและที่คอมดลูก

การตรวจความสำเร็จของการผสมเทียม 
    1. ทําการตรวจท้อง 60 วันหลังการผสมด้วยการล้วงตรวจ หากพบว่าปกมดลูกข้างที่ตั้งทองคล้ายลูกโป่งใส่น้ำวางตัวอยู่บนกระดูกเชิงกราน หรือปีกมดลูกทั้ง 2 ข้างมีขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน โดยที่ปีกมดลูกข้างที่ตั้งท้องจะใหญ่กว่าข้างที่ไม่ตั้งท้อง และเส้นผ่านศูนย์กลางของปกมดลูกข้างที่ตั้งท้องจะประมาณ 6-9 เซนตเมตร ซึ่งถ้ากดอาจพบการกระเพื่อมน้ำ (Fluctuation) หากคลำรังไข่ จะพบก้อนเนื้อเหลืองบนรังไข่ข้างเดียวกับปีกมดลกที่ตั้งท้อง ลักษณะเหมือนดอกเห็ดหรือกรวยยื่นขึ้นมาจากเนื้อของรังไข่ รังไข่ข้างที่ตั้งท้องจะใหญ่กว่าข้างที่ไม่ตั้งท้อง แต่ไม่ควรคลำรังไข่ เนื่องจากถ้าผู้ล้วงขาดความชำนาญ จะทำให้ก้อนเนื้อเหลืองหลุด ทําให้แม่โคแท้งลูกได้
    2. ดูจากบันทึกการผสมเทียม หากผ่านมา 2 รอบของการเป็นสัดแล้ว แต่โคไม่แสดงการเป็นสัด ให้คาดเดาว่าโคตั้งท้องแล้ว หรืออาจทำร่วมกับการล้วงตรวจก็ได้


                           รูปที่ 18 นักผสมเทียมต้องมีการบันทึกข้อมูลหลังการผสมเทียมทุกครั้ง
    3. คํานวณวันกำหนดคลอดและทำการบันทึกในบัตรประจำตัวโค ณ ฟาร์มนั้นๆ

อ้างอิง
การผสมเทียม. 2554. http://www.dld.go.th/airc_urt/th/
กองผสมเทียม กรมปศุสัตว์ คู่มือฝึกอบรมการผสมเทียมโค. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง
ประเทศไทย กทม. 190 หน้า
พรรณพิไล เสกสิทธิ์. 2548. เทคโนโลยีการผสมเทียมและปัญหาการสืบพันธุ์ปศุสัตว์. สำนัก
เทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
สัตวแพทยสภา. 2548. การผสมเทียมโค. กรมปศุสัตว์. การฝึกอบรมการผสมเทียมโคภายใต้
โครงการสงเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว.

      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น