6.การตรวจการเป็นสัด

                                    บทที่ 6 การตรวจการเป็นสัด

การเป็นสัด (estrus)
       

       การเป็นสัด หมายถึง ช่วงเวลาหนึ่งที่สัตว์เพศเมียยอมรับการผสมจากสัตว์เพศผู้ ซึ่งช่วงระยะระหว่างเริ่มแสดงอาการเป็นสัดครั้งหนึ่งจนถึงเริ่มแสดงอาการเป็นสัดครั้งต่อไป เรียกว่า วงจรการเป็นสัด (Estrous cycle) ซึ่งมี 4 ระยะ คือ ระยะก่อนการเป็นสัด (Proestrus), ระยะเป็นสัดแท้จริง (Estrus), ระยะหลังการเป็นสัด (Metestrus) และระยะพัก (Diestrus)
                      รูปภาพที่ 1 แสดงวงรอบการเป็นสัดในโค
กลไกของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับรอบการเป็นสัด      

       เริ่มจากสมองส่วนของไฮโปทาลามัส (hypothalamus) สร้างและหลั่ง Gonadotropin releasing hormone (GnRH) ไปกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary) สร้างและหลั่งฮอร์โมน Follicle stimulating hormone (FSH) ทำให้เกิดการสร้างถุงไข่ (follicle) ขึ้นภายในรังไข่ (ovary) ถุงไข่ (follicle) จะเจริญขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ภายในถุงไข่ (follicle) ยิ่งถุงไข่ (follicle) มีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) มากขึ้น ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ที่สร้างขึ้นจะย้อนกลับไปยับยั้ง (negative feedback) การทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary) ทำให้การสร้างและหลั่งฮอร์โมน Follicle stimulating hormone (FSH) ลดลง เมื่อถุงไข่ (follicle) เจริญได้ระดับหนึ่งจะมีการหลั่งฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) ออกมาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary) ไปกระตุ้นทำให้ถุงไข่ (follicle) แตก มีการตกไข่ (ovulation)
       เมื่อถุงไข่ (follicle) มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) มากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้แสดงอาการเป็นสัด ดังนั้นในระยะนี้สัตว์จะแสดงอาการเป็นสัด
       เมื่อถุงไข่ (follicle) แตก ไข่ที่อยู่ในถุงไข่ (follicle) จะตกไปสู่ท่อนำไข่ (oviduct) บริเวณที่ถุงไข่ (follicle) แตกไปจะกลายเป็นแอ่งหรือร่อง เซลล์ตรงบริเวณแอ่งหรือร่องที่ถุงไข่ (follicle) แตกไปแล้วนี้ จะถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) ให้เจริญต่อไปเป็นคอร์ปัส ลูเทียม (corpus luteum) ซึ่งเห็นเป็นตุ่มสีเหลืองแดง บางส่วนจะนูนขึ้นมาจากผิวรังไข่ บางส่วนจะจมลึกเข้าไปในเนื้อรังไข่ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) คอร์ปัส ลูเทียม (corpus luteum) จะมีความหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ และขนาดจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนวันที่ 12-14 หลังการตกไข่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดและแน่นที่สุด จากนั้นขนาดและความหนาแน่นจะค่อยๆ ลดลงจนเหลือเป็นรอยแผลเป็นขนาดเล็กในกรณีที่ไม่ได้เกิดการปฏิสนธิ
      ถ้าไข่ที่ตกจากถุงไข่ (follicle) มีสภาพสมบูรณ์ ได้รับการผสมกับตัวอสุจิในท่อนำไข่ส่วนต้น (ampular) กลายเป็นตัวอ่อน (fetus) เรียกว่าการเกิดปฏิสนธิ (fertilization) โดยปกติมดลูก (uterus) จะมีการเตรียมความพร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อนโดยการเตรียมสภาวะของเยื่อบุมดลูกในระยะที่มีคอร์ปัส ลูเทียม (corpus luteum) อยู่แล้ว เมื่อมีการปฏิสนธิ (fertilization) เกิดขึ้น ตัวอ่อน (fetus) จะเคลื่อนตัวจากท่อนำไข่ (oviduct) มาฝังตัวที่ปีกมดลูก (horn of uterus) ข้างที่มีการตกไข่ เกิดการตั้งท้อง (pregnancy) เมื่อตัวอ่อน (fetus) มีการฝังตัวที่ปีกมดลูก (horn of uterus) เยื่อบุด้านในของมดลูก จะไม่มีการลอกสลายตัว เนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) และมีการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน Prostaglandin F2 alpha (PGF2 ) ในระยะตั้งท้องคอร์ปัส ลูเทียม (corpus luteum) ก็จะคงอยู่เพื่อสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) เพื่อทำให้การตั้งท้องคงอยู่จนถึงระยะคลอด
               

                 กราฟที่ 1 แสดงระดับของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องในวงรอบการเปนสัด
การเป็นสัดในโค   
       โคมีวงรอบการเป็นสัดได้ตลอดปี ไม่เกี่ยวกับฤดูกาล โดยทั่วไปจะมีวงรอบการเป็นสัดเฉลี่ย 21 วัน ลักษณะอาการของโคที่เป็นสัด
1. ยืนให้โคตัวอื่น เช่น พ่อโค, ลูกโค หรือแม้แต่แม่โค ในฝูงขึ้นทับ ซึ่งแสดงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์
2. พยายามขึ้นทับตัวอื่น แต่บางครั้งโคที่ขึ้นทับตัวอื่นอาจไม่ได้อยู่ในช่วงที่เป็นสัด ซึ่งต้องสังเกตให้ดี
3. อาจสังเกตพบเมือกไหล ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับระยะเวลา โดยเมือกที่พบอาจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนการเป็นสัดที่แม้จริงเล็กน้อย ระยะเป็นสัด และระยะหมดสัดแล้ว หากใสและเหนียว มักจะเป็นระยะแรกที่แสดงอาการเป็นสัดที่แท้จริง แต่หากขุ่นมักเป็นช่วงที่หมดสัดใหม่ๆ มักพบเมือกตามบั้นท้าย และโคนหาง
4. โคที่เป็นสัดมักตื่นง่าย ไม่ค่อยกินอาหาร มีกิจกรรมในการเดินมากกว่าปกติ ในโคให้นม น้ำนมจะลด ส่งเสียงร้อง
5. โคที่เป็นสัดจะโหยหาตัวผู้ และมักยืนใกล้ๆ คอกตัวผู้
6. มักพบดิน หรือโคลน ติดบนหลัง ตลอดจนร่องรอยจากการขึ้นทับจากโคตัวอื่น
   รูปภาพที่ 2 แสดงลักษณะของโคเป็นสัด
       วงจรการเป็นสัดของโค แบ่งได้เป็น 4 ช่วง คือ
1. ระยะก่อนการเป็นสัด (proestrus) จะมีระยะเวลาประมาณ 6-10 ชั่วโมง แม่โคจะมีพฤติกรรมเดินไปเดินมา ไม่อยู่กับที่ สนใจสิ่งแวดล้อม แยกตัวออกจากฝูง ส่งเสียงร้อง เอาคางเกยบั้นท้ายตัวอื่น ขึ้นขี่โคตัวอื่น เผยอริมฝีปาก ในช่วงท้ายของระยะนี้มักจะไล่ทับโคตัวอื่น ในแม่โครีดนมพบว่าผลผลิตน้ำนมลดลงประมาณ 75% ของปกติ โคกินอาหารน้อยลง
2. ระยะเป็นสัดแท้จริง (estrus) คือ ระยะที่แม่โคยืนนิ่งยอมให้ตัวอื่นขึ้นทับ ช่องคลอดบวมแดง มีเมือกใสเหนียวไหลยืดออกจากช่องคลอด มักพบว่ามีเมือกติดตามบั้นท้ายและโคนหาง และมักมีขนยุ่งเหยิง แสดงร่องรอยของการขึ้นทับ ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 5-30 ชั่วโมง เฉลี่ยประมาณ 15-18 ชั่วโมง โดยทั่วไปการตกไข่จะเกิดขึ้นเฉลี่ย 12 ชม. หลังสิ้นสุดการเป็นสัด (หยุดยืนนิ่ง) เมื่อทำการผสมในระยะที่เหมาะสมคือ 12 – 16 ชม. หลังการเริ่มยืนนิ่ง อาการแม่โคหลังผสมมักจะพบลักษณะโคนหางยกและหลังแอ่น หลังได้รับการผสมแล้ว
3. ระยะหลังเป็นสัด (metestrus) เป็นระยะที่โคไม่แสดงอาการเป็นสัดให้เห็น อาจพบมีเมือกปนเลือดหรือเมือกสีชาไหลออกมา หากพบเมือกโดยโคไม่แสดงอาการเป็นสัด อาจเกิดจากโคเป็นสัดเงียบ การตกไข่จะเกิดในระยะนี้ โดยเกิดขึ้นในช่วง 24-30 ชั่วโมง ภายหลังจากเริ่มแสดงอาการเป็นสัดแล้ว หรือประมาณ 4-15 ชั่วโมงหลังจากหมดสัด ระยะนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) จะมีปริมาณลดลงอย่างมาก การพบเลือดปนเมือกนี้แสดงถึงแม่โคตัวนี้เป็นสัดมาแล้ว ไม่ต้องทำการผสมในครั้งนี้ แต่ให้รอนับวันที่ทำการตรวจการเป็นสัดเพื่อผสมในรอบต่อไป
4. ระยะพัก (diestrus) มีระยะเวลาประมาณ 14-16 วัน เป็นระยะที่โคเงียบสงบ โคจะหากินตามปกติ อวัยวะเพศภายนอกซีด เนื่องจากเป็นระยะที่ คอร์ปัส ลูเทียม (corpus luteum) เจริญและมดลูก (uterus) เตรียมรองรับการตั้งท้อง
       ในขณะที่แม่โคเป็นสัด ท่อนำไข่ (oviduct) จะยื่นปากแตร (fimbria) ออกไปรับไข่ที่จะแตกออกมาจากถุงไข่ (follicle) ไข่จะตกลงมาสู่ปากแตร (fimbria) และเคลื่อนที่มาตามท่อนำไข่ส่วนต้น (ampular) ซึ่งเป็นบริเวณที่ตัวอสุจิ (sperm) เคลื่อนที่มารออยู่แล้ว ตัวอสุจิตัวแรกที่ผ่านเปลือกหุ้มไข่เข้าไปสัมผัสกับไซโตพลาสซึมของเซลล์ไข่จะเป็นอสุจิเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ได้รับการผสมกับไข่ เกิดการรวมตัวกันของนิวเคลียสของอสุจิกับไข่ เรียกว่าการเกิดปฏิสนธิ (fertilization) ตัวอสุจิตัวอื่นๆ เข้าไปผสมไข่อีกไม่ได้ เนื่องจากเมื่อมีตัวอสุจิตัวแรกที่สัมผัสกับไซโตพลาสซึมของเซลล์ไข่แล้ว ไซโตพลาสซึมของเซลล์ไข่จะปล่อยสารมาคลุมผิวไซโตพลาสซึมของเซลล์ไข่แล้ว ไซโตพลาสซึมของเซลล์ไข่จะปล่อยสารมาคลุมผิวไซโตพลาสซึมทั้งหมด เป็นการป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิอื่นเข้ามาได้อีก แต่ถ้าเป็นไข่ที่ตกมาก่อนเป็นเวลานานในกรณีที่ทำการผสมเทียมช้าเกินไป ไข่มีอายุมากเกินไปและเคลื่อนตัวลงมาเลยกว่าที่ตำแหน่ง ampular หากได้รับการผสมกับอสุจิส่วนใหญ่จะตาย
       หลังจากมีการปฏิสนธิแล้ว เซลล์จะมีการแบ่งตัวจาก 1 เซลล์ เป็น 2 เซลล์ และแบ่งต่อไปเรื่อยๆ จนพัฒนากลายเป็นตัวอ่อน (fetus) ในขณะที่มีการแบ่งตัวก็จะมีการเคลื่อนที่ลงมาที่ปีกมดลูก การเคลื่อนของตัวอ่อนถึงปีกมดลูก ใช้เวลาประมาณ 4 – 5 วันจากนั้นตัวอ่อนจะค่อยเจริญขึ้น ประมาณวันที่ 35 ตัวอ่อนจะฝังตัวที่ปีกมดลูก เรียกว่า การตั้งท้อง (pregnancy)

เวลาที่เหมาะสมในการผสมเทียม     
       คือ เวลาที่ตัวอสุจิพัฒนาตัวเองเรียบร้อยเดินทางมาถึงท่อนำไข่ส่วน และมีไข่ตกพอดี จะได้เวลาที่เหมาะสมในการผสมเทียม คือ ช่วงหลังจากที่โคเป็นสัดเริ่มยืนนิ่งให้ตัวอื่นขี่ ในช่วง 6 – 20 ชม. พบว่าหากผสมในช่วง 12 – 18 ชม. หลังจากโคที่เป็นสัดเริ่มยืนนิ่ง จะมีอัตราการผสมติดสูงที่สุด อย่างไรก็ตามการผสมเทียมให้ตรงกับช่วงเวลาที่เหมาะสมจริงๆ ในทางปฏิบัติทำได้ยาก ดังนั้นที่ปฏิบัติและได้ผลมาก คือ หากพบโคเป็นสัดยืนนิ่งในตอนเช้า จะทำการผสมเทียมในตอนเย็น หากโคเป็นสัดยืนนิ่งในตอนเย็น จะทำการผสมเทียมในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

รูปภาพที่ 3 แสดงช่วงเวลาที่เหมาะในการผสมเทียม

วิธีการตรวจการเป็นสัดในโค
1. การตรวจการเป็นสัดต้องทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
นอกเหนือจากเวลาเช้าและเย็น เพราะแม่โคบางตัวเป็นสัดสั้นมาก และในแต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการตรวจการเป็นสัดอย่างน้อย 20-30 ชั่วโมง
2. ควรให้ความสนใจในการตรวจการเป็นสัดในช่วงเช้า เนื่องจากโคจะถูกรบกวนน้อย และไม่ได้ยุ่งกับอาหาร หรือการเคลื่อนย้าย นอกจากนี้ในช่วงค่ำที่มีอากาศเย็น แม่โคจะแสดงอาการเป็นสัดได้ดีขึ้น
3. แม่โคที่เริ่มเป็นสัดไม่ควรให้แยกออกจากฝูง เพื่อให้การแสดงการปีนป่ายหรือการดม ได้ชัดเจนขึ้น และกรณีที่โคเป็นสัดใกล้เคียงกัน 2-3 ตัว การแสดงการปีน ยืนนิ่งจะมีบ่อยมากขึ้น จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สังเกตตรวจการเป็นสัดได้ง่ายขึ้น และให้โคที่เข้าใกล้การเป็นสัดหรือรอให้แสดงการเป็นสัด มีพื้นที่พอสมควรที่จะปีนป่าย ขี่ตัวอื่น พื้นลานควรแห้งสะอาด และหากโคลงนอนให้สังเกตเมือกใส ขนยุ่งที่โคนหางบั้นท้ายเลอะ หรือเมือกลักษณะอื่นๆ ที่ปนออกมา
4. ควรมีการบันทึกการผสมเทียม เพื่อทำให้ทราบวันที่โคจะกลับมาเป็นสัดในรอบต่อไปได้ หรือการมีประวัติวันคลอดทำให้ทราบการเป็นสัดครั้งแรกหลังคลอดได้ เพื่อสามารถเตรียมการโคเพื่อให้ได้รับการผสมเทียมในเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังช่วยค้นหาโคที่มีปัญหามีความผิดปกติได้รวดเร็ว ข้อมูลที่ทำการบันทึก ได้แก่ หมายเลขสัตว์ วันที่แสดงการเป็นสัด เวลาที่ตรวจพบการเป็นสัด ครั้งที่ตรวจพบการเป็นสัด วันที่และเวลาที่ทำการผสมเทียม สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ทำการผสมเทียมควรบันทึกหมายเลขโคที่ทำการผสม วันที่ที่ผสม และในกรณีที่โคไม่ได้รับการผสมในครั้งนั้นควรบอกสาเหตุด้วย เช่น มีเมือกปนหนอง มดลูกไม่มีความเกร็งตัวที่เหมาะสม หรือโคท้อง

เทคนิคการตรวจสัดในโค

- ใช้พ่อพันธุ์ที่ตอนแล้ว (vasectomies bull) โดยการตัดท่อ vasdeferen ซึ่งโคยังมีความต้องการทางเพศ และสามารถผสมได้ตามปกติ แต่ไม่มีตัวอสุจิ
- ใช้พ่อพันธุ์ที่ผ่าตัดเบี่ยงลึงค์ (surgically modified bull) ทำให้ไม่มีโอกาสผสมพันธุ์ได้ ส่วนใหญ่จะใช้แบบนี้ โดยเฉพาะในแม่พันธุ์ที่เป็นสัดเงียบ จะตอบสนองต่อพ่อพันธุ์ได้ดี และยังสามารถป้องกันการติดเชื้อจากพ่อพันธุ์ได้ด้วย เนื่องจากไม่มีการสอดอวัยวะเพศเข้าช่องคลอดแม่พันธุ์
- ใช้โคเพศเมียที่เป็น cystic cow โคพวกนี้จะมีพฤติกรรมทางเพศสูง และขยันในการตรวจหาโคตัวอื่นๆ ที่เป็นสัด
- การใช้ถ้วยสี (chin ball) ซึ่งเป็นถ้วยที่ผูกติดไว้กับใต้คางโค มักใช้ร่วมกับการใช้พ่อพันธุ์ในการตรวจสัด โดยโคที่ผูกถ้วยสี กระโดดขึ้นทับโคเพศเมียที่เป็นสัด ขณะลงสีจะติดที่หลังของโคที่สัด ทำให้เราสามารถตรวจการเป็นสัดได้ง่ายขึ้น
- การใช้ถุงสีติดหลัง (heat mount detectors) จะเป็นถุงบรรจุสีอยู่ภายใน เมื่อโคที่เป็นสัดถูกโคตัวอื่นขึ้นทับ ถุงสีนั้นก็จะแตก สีก็จะติดบริเวณหลัง
- โคตัวผู้ฉีดฮอร์โมน (hormone treated steer) จะใช้โครุ่นเพศผู้ (steer) โดยฉีดฮอร์โมนขนาด 10 mg ของ oestradiol benzoate อาทิตย์ละ 1 ครั้ง แล้วปล่อยเข้าคุมฝูง
- การใช้กล้องหรือวิดีโอ เพื่อถ่ายภาพสังเกตพฤติกรรม โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่ไม่มีคน จะทราบได้ว่าโคตัวใดมีพฤติกรรมการเป็นสัด แต่มีข้อจำกัดมาก เช่นควรใช้ในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ และลงทุนมาก
- อุณหภูมิน้ำนม (milk temperature) ควรวัดในช่วงเช้าหรือเย็น โคที่เป็นสัดอุณหภูมิน้ำนมจะสูงขึ้น 0.1 องศาเซลเซียสของอุณหภูมิปกติของโค
- การวัดฮอร์โมน (milk progesterone level) เป็นการตรวจวัดการทำงานของรังไข่ โดยนำน้ำนมมาตรวจวัดระดับของฮอร์โมน progesterone โดยวิธี enzyme-linked immunoassay ซึ่งเมื่อใดที่มีระดับของ progesterone ในน้ำนมลดต่ำสุด ก็จะเป็นช่วงเวลาที่โคเริ่มเป็นสัด
- การวัดความต้านทานไฟฟ้าที่ช่องคลอด (Vaginal mucus resistant) โดยใช้ vaginal probe ขณะที่โคเป็นสัด น้ำเมือกที่โคสร้างขึ้นจะมีลักษณะเหนียวข้น เมื่อใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นแท่งกลมยาวประมาณ 1 ฟุต สอดเข้าไปในช่องคลอด แล้วเปิดเครื่องวัดค่าความต้านทานกระแสไฟฟ้า หากพบว่า ของเหลวภายในช่องคลอดจะมีความต้านทานกระแสไฟฟ้าสูงแสดงว่าโคไม่เป็นสัด ซึ่งอยู่ในระยะ luteal phase แต่ถ้าความต้านทานกระแสไฟฟ้าต่ำแสดงว่าอยู่ในช่วงที่เป็นสัด
  

                 วิดีโอที่ 1 การตรวจเช็คการเป็นสัดในม้า
วิธีการล้วงตรวจอวัยวะสืบพันธุ์โคเพื่อทำการผสมเทียม      

        การล้วงตรวจระบบสืบพันธุ์ จะทำเมื่อแน่ใจแล้วว่าโคเป็นสัด ในการล้วงตรวจจะตรวจดูสภาพของคอมดลูก (cervix) ตัวมดลูก (body of uterus) และปีกมดลูก (horn of uterus) โดยคอมดลูก (cervix) ควรแข็ง ตัวมดลูก (body of uterus) และปีกมดลูก (horn of uterus) ควรแข็งมีความหยุ่นตัวสูง ขั้นตอนวิธีการล้วงตรวจอวัยวะสืบพันธุ์เพื่อทำการผสมเทียมควรทำดังนี้
1. สังเกตอาการภายนอก ว่าโคเป็นสัดจริง ด้วยอาการยืนนิ่งให้ตัวอื่นปีนทับ มีเมือกใสไหลออกจากช่องคลอด อวัยวะเพศบวมแดง และตรวจจากประวัติบันทึกการผสมเทียม
2. สวมถุงมือผสมเทียม ใช้สารหล่อลื่น เช่นน้ำมันพืช หรือพาราฟิน ถูถุงมือ ไม่ควรใช้สบู่หรือผงซักฟอก ขยุ้มนิ้วมือเข้าหากัน ทำมือเป็นรูปกรวยค่อยๆ สอดเข้าไปที่ทวารหนัก แล้วล้วงผ่านทางทวารหนักของโค กวาดเอาอุจจาระออกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนปลายให้หมด ระวังอย่าให้มือหลุดออกมาจากทวารหนัก ตรวจคลำระบบสืบพันธุ์ของแม่โคว่า เป็นสัดจริง โดยตรวจส่วนคอมดลูก (cervix) จะแข็ง ส่วนตัวมดลูก (body of uterus) และปีกมดลูก (horn of uterus) ควรแข็งเกร็งมาก และปีกมดลูก (horn of uterus) ทั้งสองข้างต้องเท่ากัน ไม่มีข้างใดใหญ่กว่ากัน ขณะล้วงอาจมีเมือกเหนียวใสไหลออกมาจากช่องคลอด (vagina) เมื่อมั่นใจว่าโคเป็นสัดจึงเริ่มเตรียมตัวโคและอุปกรณ์ผสมเทียม


อ้างอิง
การผสมเทียม. 2554. http://www.dld.go.th/airc_urt/th/
กองผสมเทียม กรมปศุสัตว์ คู่มือฝึกอบรมการผสมเทียมโค. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง
ประเทศไทย กทม. 190 หน้า
พรรณพิไล เสกสิทธิ์. 2548. เทคโนโลยีการผสมเทียมและปัญหาการสืบพันธุ์ปศุสัตว์. สำนัก
เทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
สัตวแพทยสภา. 2548. การผสมเทียมโค. กรมปศุสัตว์. การฝึกอบรมการผสมเทียมโคภายใต้
โครงการสงเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น