8.ปัญหาการผสมไม่ติด

                                        บทที่ 8 ปัญหาการผสมไม่ติด                            
                                                             (Low Fertility)

       
ปัญหาการผสมไม่ติดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่อาจจะเกิดจากสาเหตุเดียวหรือหลายๆ สาเหตุพร้อมๆ กันก็ได้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอาจเกิดจากพันธุกรรมของสัตว์เอง การจัดการเลี้ยงดู หรือแม้กระทั่งโรคติดเชื้อต่างๆ ล้วนส่งผลให้เกิดการผสมไม่ติดได้ทั้งสิ้น


1. โรคทางการสืบพันธุ์ในสัตว์ใหญ่ (Disease Transmission by Breeding)   
รคสัตว์ใหญ่ที่สามารถติดต่อได้ทางการสืบพันธุ์นั้น เป็นโรคที่เกิดจากการได้รับเชื้อโรคที่ระบบสืบพันธุ์โดยตรง หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อที่เกิดในระบบอื่นๆ ของร่างกายแล้วไปมีผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์หรือการสืบพันธุ์ โดยโรคเหล่านี้จะทำให้เกิดสูญเสียต่อการผลิตและผลผลิต ขัดขวางการปฏิสนธิของเซลล์ไข่กับอสุจิ ทำให้ตัวอ่อนตายระยะแรก เกิดการแท้งลูก ทำให้โคผสมไม่ติด เป็นหมัน บางโรคที่รุนแรงจะไปกดภูมิคุ้มกันโรคของสัตว์ สัตว์อ่อนแอ บางรคมีผลต่อระบบทางเดินหายใจทำให้ลูกโคและโครุ่นปอดอักเสบ บางโรคทำให้เยื่อเมือกทางเดินอาหารอักเสบมีอาการท้องเสีย ในรายที่รุนแรงอาจถึงตายได้ เชื้อที่ทำให้เกิดการเสียหายและเกิดโรคต่อระบบสืบพันธุ์มีทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว ฯลฯ โรคติดเชื้อที่มีผลต่อการสืบพันธุ์ที่สำคัญ มีดังนี้

1.1 โรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส
1. โรคบีวีดี-ไวรัสทางเดินอาหารและทางเดินสืบพันธุ์ในโค (Bovine virus diarrhea (BVD), Mucosal disease (MD))      
        เป็นโรคติดเชื้อในโค แกะและสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆ สามารถรอยโรคที่เยื่อบุของการเดินฟอาหาร (gastrointestinal mucosa) โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดโรคที่มีลักษณะแตกต่างกันคือ โบวาย ไวรัส ไดอะเรีย (BVD) มีลักษณะเป็นแบบไม่แสดงอาการรุนแรง และแบบมิวโคซอลดิซีส (MD) เป็นรุนแรงถึงตายได้ โรคนี้มีผลให้สัตว์เกิดความผิดปกติแต่กำเนิด โดยเฉพาะในลูกโค รวมทั้งทำให้เกิดปัญหาผสมไม่ติดในแม่โค และการกดการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย โรคบีวีดี-ไวรัสทางเดินอาหารและทางเดินสืบพันธุ์ในโคที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ คือ เกิดการแท้งได้ หรือผสมไม่ติด ลูกตายหลังคลอด หรือลูกที่ที่คลอดผิดปกติแต่กำเนิด แคระแกร็น และยังมีต่อการกดการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย
       บีวีดี (BVD) มีอัตราการเกิดโรคสูง (80-100%) แต่อัตราการตายต่ำ (0-20%) ในขณะที่เอ็มดี (MD) มีอัตราการเกิดโรคต่ำ (5-10%) แต่อัตราการตายสูง (90-100%) สาเหตุเกิดจากโบวาย ไวรัส ไดอะเรีย ไวรัสบีวีดีวี (bovine virus diarrhea virus =BVDV) ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มเพสติไวรัส (pestivirus) เชื้อชนิดนี้มีความใกล้เคียงกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอหิวาต์สุกร พบการติดต่อได้ในโคที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป โดยโคจะติดเชื้อ BVDV ได้จากการสัมผัสโดยตรงและโดยผ่านทางรก สำหรับการติดต่อผ่านทางรกนั้น ลูกในท้องในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งท้องไวต่อการติดเชื้อมากที่สุด สามารถพบเชื้อได้จากสารคัดหลั่งจากจมูก น้ำลาย น้ำเชื้อ อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำตาและน้ำนม
        อาการของโรค อาการบีวีดี มักเป็นแบบไม่แสดงอาการรุนแรง (inapparent or subclinical) โดยจะพบอาการ มีไข้ต่ำๆ เม็ดเลือดขาวต่ำ (leucopenia) ท้องเสียไม่รุนแรง มีระยะฟักตัว 5-8 วัน ระยะการเกิดโรค 7-18 วัน จากนั้นสัตว์ก็จะสร้างแอนติบอดีขึ้นมา
        อาการเอ็มดี แบ่งเป็นแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง
        1. แบบเฉียบพลัน พบได้ในโคอายุ 6-24 เดือน จะพบอาการซึม เบื่ออาหาร น้ำลายไหล ขนรอบปากเปียกชุ่ม มีไข้ 104-105 ๐F ถ่ายเป็นน้ำ มักเป็นหลังแสดงอาการได้ 2-4 วัน อุจจาระอาจมีมูกเลือด เกิดการลอกหลุดของเยื่อเมือกในปาก ทำให้เกิดเนื้อตายขึ้น การลอกหลุดอาจเกิดที่ผนังด้านในริมฝีปาก เหงือกและเพดานปาก ส่วนปลายจมูก (muzzle) อาจเกิดเนื้อตาย และเกิดเป็นสะเก็ดแห้ง อาจมีน้ำมูกข้น น้ำตาไหล กีบอักเสบและผิวหนังบริเวณร่องกีบ (interdigital cleft) ลอกหลุด มักเกิดกับขาทั้ง 4 ข้าง อ่อนเพลีย ร่างกายขาดน้ำและตายหลังแสดงอาการได้ 5-7 วัน
        2. แบบเรื้อรัง รายที่เกิดแบบเฉียบพลัน บางตัวที่ไม่ตายจะกลับเป็นแบบเรื้อรัง โดยจะพบอาการ ท้องเสียเป็นๆ หายๆ เบื่ออาหาร ขนหยาบแห้ง ท้องอืด (bloat) กีบผิดรูปไป เกิดการลอกหลุดอย่างเรื้อรังในช่องปากและตามผิวหนัง เกิดสะเก็ดแห้งตามบริเวณที่เกิดการลอกหลุดของผิวหนัง เช่น รอบๆ อัณฑะ ปลายท่อปัสสาวะ อวัยวะเพศเมีย และร่องระหว่างกีบ (interdigital cleft)- ระยะเวลาของโรคนาน 14-21 วัน บางตัวอาจกินเวลาเป็นเดือน



รูปภาพที่ 1 ลักษณะอาการและรอยโรคของโรคบีวีดี
     
       2. โรคไอบีอาร์-ไวรัสทางเดินอาหารและทางการสืบพันธุ์ในโค (Infectious Bovine Rhinotracheitis, IBR)
       สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส บี เอช วี-1 (Bovine Herpesvirus-1) จะพบการระบาดของโรคมากในโคที่อายุมากกว่า 6 เดือน และพบได้ในสุกร แพะ สัตว์ป่า และควาย มีติดเชื้อได้ทั้งทางการสืบพันธุ์และการหายใจ มีอัตราการตายและการสูญเสียต่ำ
       อาการของโรค โคนมที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการในหลายระบบ คือ ระบบหายใจ จะมีอาการคล้ายโรคหวัด มีน้ำมูก ตาแดง น้ำตาไหล มีไข้ อาจสูงกว่า 41 องศาเซลเซียส ในระบบสืบพันธุ์ จะพบอาการอวัยวะเพศบวมแดง มีมูกไหล และอาการในระบบอื่นๆ เช่นระบบประสาท เต้านมอักเสบ
      เกิดการติดเชื้อจากน้ำมูก การไอ เมือกที่หลั่งจากช่องคลอด น้ำเชื้อ น้ำคร่ำของลูก และการติดเชื้อจากเชื้อที่ปนอยู่ในละอองอากาศ

รูปภาพที่ 2 ลักษณะอาการและรอยโรคของโรคไอบีอาร์


           การตรวจวินิจฉัย ใช้สำลีพันปลายไม้กวาดบริเวณเยื่อชุ่มที่แสดงอาการของโรค เช่น ที่จมูก ช่องคลอด อวัยวะเพศผู้ ในกรณีที่เกิดการแท้ง ลูกที่แท้งมักไม่พบเชื้อไวรัส ควรเก็บรกแช่ในน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อ แล้วแช่เย็นตัวอย่างและรีบนำส่งห้องปฏิบัติการโดยเร็ว เพื่อทำการแยกเชื้อไวรัส ในการตรวจโรคจากซีรั่มเป็นตรวจหาแอนติบอดีต่อโรคเพื่อยืนยันการเป็นโรค โดยการเก็บซีรั่ม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อโคแสดงอาการ และครั้งที่สองห่างจากครั้งแรก 3-4
           การควบคุมและป้องกัน การตรวจวิเคราะห์ร่วมกันทั้งจากอาการ การพบภูมิคุ้มกันโรค และการแยกเชื้อไวรัสได้จะช่วยให้มีความถูกต้องสูงในการตรวจวินิจฉัยโรคนี้ ทำให้คัดทิ้งและการควบคุมโรคเกิดผลดี นอกจากนี้ การใช้วัคซีนสามารถป้องกันการแสดงอาการของโรคได้ แต่เชื้อไวรัสสามารถแฝงอยู่ในร่างกายได้ โดยควรให้วัคซีนในโคสาว 2 สัปดาห์ก่อนการผสมพันธุ์ และไม่ควรให้วัคซีนในโคท้องและโคพ่อพันธุ์


         3. โรคบลูทังจ์ (Bluetongue)     
        สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีแมลงพวกตัวริ้น (Culicoides) เป็นพาหะ มีรายงานว่าได้มีการแยกเชื้อไวรัสบลูทังจ์ได้ถึง 24 ซีโรไทป์ ระยะฟักตัวของโรคพบได้ตั้งแต่ 2-15 วัน ส่วนใหญ่พบในช่วง 4-7 วัน โดยเป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม Reovirus. Genus Orbivirus จัดเป็นไวรัสกลุ่ม epizootic hemorrhagic disease
       พบการระบาดของโรคได้ในสัตว์ป่า และสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งสามารถติดเชื้อเข้าสู่ลูกในท้องและก่อโรคได้
      อาการของโรค  โคที่เป็นโรคนี้จะมีไข้ 105-107 ๐F น้ำหนักและน้ำนมลด มีอาการบวมและเลือดคั่งบริเวณปาก จมูกและหู มีการลอกหลุดของเยื่อบุบริเวณปากและจมูก และมีน้ำลายไหลตลอดเวลา กระเพาะและลำไส้อักเสบ ท้องเสีย บางตัวมีการอักเสบบริเวณที่ไรกีบทำให้โคเดินลำบาก บางครั้งอาจจะมีอาการปวดบวมและหายใจลำบาก ซึ่งในโคตั้งท้องอาจจะทำให้แท้งได้หรือลูกที่คลอดออกมาผิดปกติ


รูปภาพที่ 3 ลักษณะอาการและรอยโรคของโรคบลูทังจ์
       การตรวจวินิจฉัย  ในการวินิจฉัยโรคสามารถดูจากอาการสัตว์ป่วย หรือการตรวจหาแอนติบอดีจากน้ำเหลือง การแยกเชื้อไวรัสจากเลือดและอวัยวะของสัตว์ป่วย
       การรักษาและการป้องกันควบคุมโรค  ไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง ให้รักษาตามอาการ และดูแลสัตว์ป่วยอย่างดี สามารถป้องกันโรคได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน ปีละ 1 ครั้ง(Modified live vaccine) และการควบคุมแมลง
             1.2 โรคที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย
             1. โรคแท้งติดต่อ(Brucellosis; Bang’s disease)     
        เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่สำคัญของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โค กระบือ สุกร แพะ ม้า สุนัข เป็นต้น และติดต่อสู่คนได้ ลักษณะที่ควรสังเกตของโรคนี้ คือ สัตว์จะแท้งลูกในช่วงท้ายของการตั้งท้อง(abortion) และอัตราการผสมติดในฝูงจะต่ำ(infertility) โดยแม่โคจะแท้งลูกในระยะตั้งท้องได้ 5-8 เดือน จะมีรกค้างและมดลูกอักเสบตามมาเสมอ การแท้งมักจะเกิดขึ้นในการตั้งท้องแรกเท่านั้น ในโคเพศผู้จะพบภาวะลูกอัณฑะบวมโตข้างใดข้างหนึ่งและเป็นหมัน และอาจพบข้ออักเสบร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Brucella abortus.
            การวินิจฉัยโรคแท้งติดต่อ  สามารทำการวินิจฉัยโรคได้หลายวิธี เช่น การตรวจโดยการตกตะกอนบนแผ่นแก้ว การตรวจการตกตะกอนในหลอดทดลอง การตรวจโรคโดยน้ำนมโคโดยใช้วิธี milk ring test หรือการตรวจโดยวิธี complement fixation test
           การควบคุมและป้องกัน

           1. ควรตรวจโรคทุกๆ 6 เดือน ในฝูงโคที่ยังไม่ปลอดโรคและทุกปีในฝูงโคที่ปลอดโรค
           2. สัตว์ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคควรจะแยกออกจากฝูง
           3. คอกสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้ ต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาด แล้วทิ้งร้างไว้อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนนำสัตว์ใหม่เข้าคอก
          4. ทำลายลูกที่แท้ง รก น้ำคร่ำโดยการฝังหรือเผา และทำความสะอาดพื้นที่บริเวณที่ติดเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
          5. กำจัด นก หนู แมลง สุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงอื่นซึ่งเป็นตัวแพร่โรคออกไป
          6. สัตว์ที่นำมาเลี้ยงใหม่ ต้องปลอดจากโรคนี้ก่อนนำเข้าคอก
          7. โคพ่อพันธุ์ที่ใช้ต้องไม่เป็นโรคนี้
          8. ทำวัคซีนเชื้อเป็น(strain 19) เฉพาะในโครุ่นอายุระหว่าง 3-8 เดือน

        2. โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)     

        โรคเลปโตสไปโรซิส มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปเช่น Spirocheatosis, Yellow fever, Weil's disease และ Red water of calves เป็นต้น โรคนี้พบในสัตว์เลี้ยงทุกชนิดรวมทั้งสัตว์ป่า หนู สัตว์เลือดเย็น และติดต่อถึงคนได้ (Zoonosis) มีการสำรวจโรคนี้ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2506-2511 ในโคของเกษตรกร โดยวิธีทางซีรั่มวิทยา พบว่าโคเคยได้รับเชื้อเลปโตสไปราหลายซีโรไทป์ นอกจากนี้ยังพบว่าสัตว์ต่างๆ ที่เป็นพาหะของโรคที่จะแพร่เชื้อไปให้โค ได้แก่ สุนัข แมว หนู และน้ำที่ใช้เลี้ยงสัตว์จากแม่น้ำ ลำธาร หนอง และบึง เป็นต้น
         สาเหตุและการติดต่อ เกิดจากเชื้อ Leptospira spp. มีลักษณะเป็นเส้นเกลียวยาวเหมือนเส้นด้าย ปลายด้านหนึ่งหรือสองด้านโค้งงอ มีความยาว 8-12 ไมครอน หากอยู่ในอาหารเลี้ยงเชื้อนานๆ จะเพิ่มความยาวมากกว่าที่พบในร่างกายสัตว์ การเคลื่อนไหวจะเป็นไปตามทางแกนยาว โดยมีปลายงอด้านใดด้านหนึ่งทำหน้าที่หน้าที่คล้ายใบพัด เชื้อนี้ชอบความชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตประมาณ 20-30oC การเกิดโรคนี้ พบว่าหนูเป็นตัวการสำคัญ และสัตว์อื่นๆ สามารถติดเชื้อได้โดย
         1. จากปัสสาวะของหนูที่มีเชื้อเลปโตสไปรา เช่น สัมผัสน้ำปัสสาวะโดยตรง หรือกินอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนน้ำปัสสาวะนั้น
         2. สัตว์ในฝูงบางตัวมีเชื้อเลปโตสไปราอยู่ในร่างกาย เชื้อจะออกมากับน้ำปัสสาวะ สัตว์ในฝูงตัวอื่นก็รับเชื้อจากน้ำปัสสาวะเข้าไป
         อาการของโรค

         1. มีไข้และเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งจะทำให้โคที่ตั้งท้องแท้งได้
         2. มีจุดเลือดออกตามเยื่อเมือกต่างๆ
         3. ในลูกสัตว์อาจมีการซีดตามเยื่อเมือก และอาจมีอาการดีซ่านได้ในสัตว์บางตัว
         4. มีอาการทางระบบไต เช่น ไตอักเสบ ปัสสาวะออกมามีสีแดง ฯลฯ ซึ่งมักจะพบในรายที่มีอาการแบบเรื้อรัง
         5. เต้านมอักเสบ ซึ่งมักพบในรายที่มีอาการแบบเฉียบพลัน
        การรักษาและการป้องกันโรค สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ คือ ไดไฮโดรสเตร็ปโตมัยซิน เต็ทตราไซคลิน และเพ็นนิซิลิน และการควบคุมและป้องกันดี คือ กำจัดสัตว์ที่เป็นตัวนำโรค เช่น หนู การแยกสัตว์ที่ติดเชื้อออกจากฝูง การสุขาภิบาลและการจัดการที่ดี



          3. โรคที่มีสาเหตุจากโปรโตซัว
          ทริโคโมเนียซีสในโค (Bovine Trichomoniasis)       เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ทริโคโมนาส ฟีตัส (Trichomonas fetus) ซึ่งอาการโรคที่พบในเพศเมียคือ ทำให้เกิดมดลูกอักเสบ เป็นหนอง และตัวอ่อนตายในระยะต้นๆ ของการตั้งท้อง หรือแท้งในช่วงระยะ 2-4 เดือนแรก ในเพศผู้จะพบเชื้อนี้ได้บริเวณลึงค์ ผนังหุ้มลึงค์ และส่วนปลายของท่อปัสสาวะ ภายหลังได้รับการผสมจากพ่อโคที่มีเชื้อโปรโตซัวแล้ว พบว่า แม่โคจะผสมไม่ติดนาน 2-6 เดือน
          การป้องกันโรค  สามารถป้องกันโรคได้โดยใช้วิธีการผสมเทียม ซึ่งน้ำเชื้อที่ใช้ต้องปลอดจากโรคนี้ด้วย ซึ่งต้องมีตรวจหาเชื้อในการคัดพ่อพันธุ์ก่อนใช้งาน และในโคเพศเมียที่เป็นโรคนี้ให้งดผสมพันธุ์

     ซึ่งโรคที่สำคัญในพ่อโคพ่อพันธุ์ต้องผ่านการตรวจและปลอดจากโรคเหล่านี้ คือ
      1. วัณโรค
      2. โรคแท้งติดต่อ
      3. โรคเลปโตสไปโรซีส
      4. โรคบีวีดี
      5. โรคแคมไพโรแบคเตอร์
      6. โรคทริโคโมเนียซีส
      7. โรคไอบีอาร์
      8. โรคพาราทูเบอร์คูโลซิส หรือวัณโรคเทียม
      9. โรคบลูทังจ์

       นอกจากนี้ ยังโรคติดต่อที่สำคัญในการปฏิบัติงาน หรือขบวนการผสมเทียมที่สะอาด จะสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อโรคเหล่านี้ได้ คือ
       1. โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis; Bang’s disease)
       2. โรคพาราทูเบอร์คูโลซิส (Paratuberculosis, Johne's diseases)
       3. โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and mouth disease)
       4. โรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย (Haemorrhagic septicemia)
       5. โรคบาบีซิโอซิส (Babesiosis)
       6. โรคอะนาพลาสโมซิส (Anaplasmosis)

      โรคทีแพร่โดยพนักงานผสมเทียมที่สำคัญ คือ
       1. โรคยูเรียพลาสโมซิส(ureaplasmosis
       2. โรคลิวโคซิส (Leukosis)


2. ปัญหาทางการสืบพันธุ์    
           ปัญหาทางการสืบพันธุ์ถือเป็นอีกปัจจัยหลักที่มีผลต่อการผสมติดยากในปศุสัตว์ ทำให้ต้นทุนการผลิตของฟาร์มสูงการให้การจัดการที่ถูกต้องเพื่อป้องกันและการเข้าใจปัญหา การแก้ไขให้เร็วจะช่วยลดความสูญเสียได้ ซึ่งปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ที่พบบ่อยและต้องมีวิธีการป้องกันแก้ไข อาจจะเกิดจากสาเหตุหลากประการพอสรุปได้ดังนี้
    - การไม่เป็นสัด หรือจับสัดไม่ได้ หรือรอบการเป็นสัดไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผสมติดยาก
    - ความสมบูรณ์ของระบบฮอร์โมนในแม่โค หรือความไม่สมบูรณ์พันธุ์ของแม่โค
    - แม่โคได้รับการผสมเทียมในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม
    - ปัญหาการติดเชื้อของมดลูกหลังคลอด และก่อนคลอด
    - ความชํานาญของผู้ปฏิบัติงาน
    - คุณภาพน้ำเชื้อ น้ำเชื้อตาย หรือการเก็บน้ำเชื้อไม่ดี
    - ความผิดปกติของรังไข่ หรือภาวะของโรคในแม่โค
    - โคเป็นหมัน หรือแฝดผู้เมีย
    - เป็นโรคติดต่อทางระบบสืบพันธุ์ที่สำคัญในพ่อโค


1. ปัญหาผสมติดยาก
ปัญหาการผสมติดยากในโคนมเป็นปัญหาที่มีสาเหตุไม่มีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเกิดในต่างประเทศหรือพบในประเทศไทย แต่การแก้ไขอย่างครบวงจรเป็นเรื่องบยากง่ายต่างกันขึ้นกับโครงสร้างการผลิตโคนมและพื้นฐานการรองรับในประเทศหรือพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสภาพการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยนั้นมีข้อจำกัดที่มีผลต่อการผสมติดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น สภาพอากาศที่ร้อนชื้น การจัดหาอาหารหยาบคุณภาพดี และไม่ใช้ข้อมูลฟาร์มเพื่อการจัดการสุขภาพโค เป็นต้น ซึ่งได้มีการประยุกต์และแก้ไขกระบวนการเลี้ยงโคที่เหมาะสมต่อการผลิตการผสมติด เช่น พยายามจัดรูปแบบการให้อาหารเป็นแบบอาหารข้นผสมอาหารหยาบในสัดส่วนเหมาะสมการ การนำข้อมูลที่ถูกต้องทั้งการผสมพันธุ์การรักษาและมีข้อมูลการผลิตน้ำนมรายตัวนำมาวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหาในฟาร์มที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาผสมติดยาก ได้แก่
1.1 การตรวจสัดที่ดี เกษตรกรควรตรวจสัดช่วงเช้า ช่วงเย็นและช่วงหัวค่ำ หรือตอนโคเดินเข้ามารีดนม โดยแต่ละครั้งควรนาน 20–30 นาที และควรให้อยู่รวมในฝูงไม่แยกเดี่ยว ซึ่งโคที่ยืนนิ่งให้โคตัวอื่นปีนเป็นโคที่เป็นสัดจริง และเวลาที่เหมาะสมในการผสมมากที่สุดคือช่วง 12–16 ชั่วโมงหลังโคเริ่มยืนนิ่งเป็นสัด โดยสาเหตุที่ทำให้การจับสัดในฟาร์มผิดพลาดมากคือ

- สภาพโรงเรือน พื้นคอกพักที่ไม่เหมาะสม ทำให้โคแสดงอาการเป็นสัดได้ไม่ชัดเจน
- หมายเลขประจำตัวโคไม่ชัดเจน
- ความผิดพลาดของการบันทึกอาการโคที่ใกล้เป็นสัดและอาการโคที่เป็นสัดจริง
- มีการตรวจการเป็นสัดไม่เพียงพอ อาจเป็นเพราะเจ้าของฟาร์มมีงานมาก หรือไม่มีเวลา หรือไม่ให้ความสำคัญในการจับสัด หรือไม่นำวิธีการอื่นๆ เข้ามาช่วยการจัดการจับสัดโคในฝูง
1.2 เทคนิคการผสมเทียมที่ดีช่วยเพิ่มการผสมติด การผสมเทียมต้องทำอย่างสะอาดถูกต้อง ทั้งการละลายน้ำเชื้อและการบรรจุปืนฉีดน้ำเชื้อ ที่สำคัญน้ำเชื้ออสุจิต้องมีคุณภาพดีและเกษตรกรควรทราบประวัติพันธุกรรมของพ่อโคด้วยและต้องไม่เป็นทางแพร่โรคทางการสืบพันธุ์ โคที่ผสมแล้วควรถูกตรวจท้องหลังผสม 60วันเพื่อบันทึกการท้องและกำหนดคลอด
1.3 ประเมินประสิทธิภาพการผสมเทียม ลงบันทึกข้อมูลการผสมเทียมทุกครั้งทั้งวันที่ผสมและชื่อพันธุ์ที่ใช้ โดยมีข้อกำหนดว่า

- โคสาวควรเป็นสัดและผสมติดที่อายุ 15–18 เดือน น้ำหนักประมาณ 280 – 300 กก. คลอดลูกตัวแรกที่อายุไม่เกิน 27–30 เดือน
- แม่โคหลังคลอดควรเป็นสัดและได้รับการผสม 60 วันหลังคลอด โคส่วนใหญ่ในฝูงควรผสมติดภายใน 100วันหลังคลอด
ซึ่งมีปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการผสมติดคือ
- การทำการผสมเทียมในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นกับการจับสัดที่ถูกต้อง
- เทคนิคการผสมเทียมที่ถูกต้องสะอาดและการเก็บรักษาคุณภาพน้ำเชื้อแช่แข็ง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำการผสมเทียมเอง
- สภาวะอาหารและสุขภาพความสมบูรณ์ของแม่โคและโคสาว ณ เวลาที่ทำการผสมเทียม และภายหลังการผสมเทียม
- การที่มดลูกเข้าอู่สมบูรณ์ไม่มีการติดเชื้อในมดลูกและมีความพร้อมที่จะรับการตั้งท้อง โดยเฉพาะในการผสมครั้งแรก
           มดลูกอักเสบ (Metritis) เกิดจากสภาวะที่มดลูกติดเชื้อและเกิดขบวนการอักเสบขึ้นมา มีผลต่อความสมบูรณ์พันธุ์ โดยจะมีผลให้แม่โคมีความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำลง ระยะห่างการตกลูกยาวขึ้น แม่โคบางตัวอาจเป็นหมัน มีความเสียหายของมดลูกและท่อนำไข่ และอาจมีผลทำให้แม่โคบางตัวไม่แสดงอาการเป็นสัดเลย ซึ่งภาวะมดลูกอักเสบสามารถเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง
              2.1 มดลูกอักเสบเฉียบพลัน (Acute Metritis) ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระยะแรกหลังคลอดภายใน 7 วันมักพบในแม่โคที่มีปัญหาคลอดยาก มีการช่วยคลอดโดยดึงลูก มีปัญหารกค้าง หรือมดลูกทะลักหลังคลอด โดยแม่โคอาจแสดงอาการเบ่งเป็นระยะ พบของเหลวสีน้ำเลือดที่มีกลิ่นเหม็นเน่าออกจากช่องคลอด และอาจพบช่องคลอดอักเสบร่วมด้วย การตรวจร่างกายพบว่าแม่โคมีไข้ชีพจรสูงขึ้น อัตราหายใจเร็วขึ้น ซึ่งต้องทำการตรวจทางทวารหนักอย่างนุ่มนวลตรวจประเมินการเข้าอู่ของมดลูกและลักษณะมดลูกว่าขนาดเท่าใดมีของเหลวภายในมากเพียงใด   
การรักษามดลูกอักเสบเฉียบพลันจะให้ยาชาเฉพาะที่โคนหางเพื่อให้แม่โคลดการเกร็งเบ่งขับของเสียในมดลูก ให้ยาปฏิชีวะที่ออกฤทธิ์กว้างทางระบบร่วมกับให้ทางมดลูก ให้สารน้ำและยาลดไข้ลดอักเสบกรณีมีไข้สูง และให้การดูแลพยาบาลที่ดี โดยผลการรักษาพบว่า แม่โคที่มีการติดเชื้อและสร้างสารพิษเข้าทางระบบแล้วอาจตายได้ ในรายที่ตอบสนองการรักษาอาการจะดีขึ้นภายใน 24 ชม. และให้ทำการตรวจช่องคลอดและล้างมดลูกแม่โคที่มีปัญหามดลูกอักเสบหลังคลอดมักพบว่าเป็นมดลูกอักเสบเรื้อรังตามมา  
2.2 มดลูกอักเสบเรื้อรังและมดลูกเป็นหนอง (Chronic Metritis and Pyometra) พบในโคบางรายเคยเป็นมดลูกอักเสบเฉียบพลันมาก่อน ส่วนใหญ่มดลูกไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนที่ติดมาในระยะคลอดลูกออกได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียเข้าช่องคลอดจำนวนมากเกินกว่าแม่โคจะทำการกำจัดเชื้อได้เองโดยธรรมชาติ มักพบมากในแม่โคมีปัญหารกค้างหลังคลอด มดลูกเข้าอู่ช้า มีการกลับมามีวงจรการเป็นสัดหลังคลอดช้า มีเนื้อเยื่อเสียหายขณะคลอด หรือระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในฟาร์มที่พบแม่โคมีปัญหามดลูกอักเสบสูงในบางปี น่าเป็นผลจากการจัดการขณะคลอดไม่สะอาด และอาจเป็นผลร่วมจากวิตามินแร่ธาตุในอาหารไม่สมดุล โดยมีลักษณะอาการที่สำคัญ คือ แม่โคไม่แสดงอาการมีไข้ การกินอาหารและการให้นมปกติ ตรวจช่องคลอดพบหนองปนเมือกอยู่หน้าช่องคลอด การล้วงตรวจทางทวารหนักพบว่ามีปีกมดลูกขนาดใหญ่กว่าขนาดที่ควรเป็น การเข้าอู่ช้ากว่าปกติ และรู้สึกว่ามดลูกมีลักษณะบวม ในบางรายมดลูกขยายใหญ่มาก มีหนองอยู่ภายในผนังมดลูกหนา เป็นลักษณะมดลูกเป็นหนอง รังไข่อาจยังไม่เริ่มทำงาน หรือบางตัวอาจเริ่มมีวงรอบแล้ว
การรักษามดลูกอักเสบเรื้อรังและมดลูกเป็นหนอง ในรายที่แม่โคมีคอร์ปัสลูเทียมในรังไข่ให้สารโปรสตาแกลนดินเพื่อสลายคอร์ปัสลูเทียม และทำให้แม่โคเป็นสัดเพื่อให้คอมดลูกเปิดและขับหนองออกแล้วจึงทำการล้างมดลูกด้วยยาปฏิชีวนะในขนาดเดียวกับขนาดรักษา เป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง เช่น ออกซิเตตราไซคลิน 1–3 กรัม โดยต้องงดส่งนมตามกำหนด และให้ยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์กว้างเข้าทางระบบด้วย
     รกคือเนื้อเยื่อส่วนของลูกที่เกาะกับผนังมดลูกของแม่โค โดยปกติส่วนเยื้อหุ้มตัวลูกหรือรก จะถูกขับออกจากตัวแม่ภายใน 3–8 ชั่วโมงหลังคลอดลูก การที่รกค้างอยู่ในมดลูกหลุดออกมาช้ากว่า 12 ชั่วโมงหลังคลอดมักมีความผิดปกติในขบวนการลอกหลุดของเนื้อเยื่อยึดเกาะระหว่างแม่และลูกภาวะรกค้างจะพบมากในโคมากกว่าในสัตว์ชนิดอื่นๆ รกค้างจะเป็นสาเหตุเกี่ยวเนื่องนำไปสู่ปัญหาโคมดลูกอักเสบมดลูกเป็นหนอง โดยมักเกิดในขบวนการคลอดที่ไม่ปกติทำให้เกิดรกค้างตามมา และเป็นสิ่งโน้มนำให้มีการติดเชื้อเข้าสู่มดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่โคมีปัญหาความไม่สมบูรณ์พันธุ์และผสมติดยาก อัตราการเกิดภาวะรกค้างจะเกิดได้สูงมากหากการจัดการในขณะคลอดไม่ดี และภาวะไม่สมดุลของอาหาร วิตามินและแร่ธาตุในฟาร์ม
การแก้ไขและรักษาภาวะรกค้างจะใช้วิธีตัดส่วนที่ห้อยออกจากปากมดลูกให้สั้นที่สุดแล้วให้ยาปฏิชีวนะทางช่องคลอดเข้าในมดลูก โดยทำการสอดเข้าในมดลูกให้ลึกและต้องทำอย่างสะอาดที่สุด แนะนำการให้ยาปฏิชีวนะออกซิเตตราไซคลินขนาด 1–3 กรัมเข้าในมดลูก จะช่วยลดการอักเสบและติดเชื้อได้ดี แต่จะมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะลงในน้ำนม 24–48 ชม.จึงต้องงดส่งนม กรณีที่แม่โคมีอาการป่วยแทรกซ้อนต้องให้การรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะทางระบบ การให้ยาลดไข้และยาอื่นๆ ที่เหมาะสมตามอาการของโค รกที่เหลือค้างอยู่จะหลุดออกเองได้ภายใน 10–15 วัน โคที่ไม่ปลดรกพบว่ามีอัตราการผสมติดและความสมบูรณ์พันธุ์ดีกว่าโคที่ปลดรก ไม่แนะนำให้ทำการปลดด้วยมือเพราะจะเกิดความชอกช้ำในมดลูก มีผลให้เกิดการเสียหายมดลูกอักเสบและผสมติดยากตามมา
การควบคุมและป้องกันภาวะรกค้างโดยการเสริมวิตามินและแร่ธาตุ กลุ่มวิตามินเอ อี และซีลีเนียม ในระยะก่อนคลอดทั้งแบบผสมอาหารและแบบฉีด จะลดอุบัติการณ์การเกิดรกค้างได้ ซึ่งไปมีผลช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดการติดเชื้อและการอักเสบได้ ระดับวิตามินอี ที่แนะนำผสมในอาหารเป็น 400–1,000 มก.ต่อวัน แบบฉีดเข้ากล้าม 7–14 วันก่อนคลอดแนะนำให้ใช้ขนาด 680 – 3,000 มก.ต่อวัน มีรายงานการให้วิตามินอีร่วมกับซีลีเนียม พบว่า ให้ผลในการป้องกันรกค้างได้ดีกว่าการให้วิตามินอีอย่างเดียว โดยขนาดที่แนะนำให้เสริมในอาหารคือวิตามินอี 400 – 800 ไอยู./วันร่วมกับซีลีเนียม 3 – มก./วัน นอกจากนี้ มีการจัดการขณะคลอดให้สะอาดและลดการติดเชื้อเข้าช่องคลอด มีคอกพักรอคลอดเป็นสัดส่วนแห้งและสะอาด มีการจัดการโคในฟาร์มให้ปลอดจากโรคทางการสืบพันธุ์ โดยเฉพาะโรคแท้งติดต่อต้องปลอดโรคในฝูงเพื่อลดปัญหาแท้งและเกิดรกค้างตามมา ทำการป้องกันการเกิดโรคไข้น้ำนม เช่น ปรับสูตรอาหารมน ระยะพักรีดนมให้สัดส่วนแคลเซียมลดลง เป็นต้น การให้วิตามินดีก่อนคลอด การจัดการอาหารให้สมดุลในระยะใกล้คลอดและหลังคลอด และการไม่ให้แม่โคอ้วนเกินไปในระยะพักรอคลอด ทั้งหมดข้างต้นนี้จะช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดรกค้างได้เป็นอย่างดี
           4. โรคถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian Cyst)
ถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian Cyst) เป็นความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ที่พบได้บ่อยในโคนม นับเป็นโรคที่นำความสูญเสียทางเศรษฐกิจในฟาร์มที่สำคัญโรคหนึ่ง รังไข่ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคถุงน้ำในรังไข่ คือรังไข่ที่มีลักษณะถุงไข่ (follicle) ที่มีของเหลวที่ขนาดใหญ่กว่าถุงไข่ที่โตเต็มที่ก่อนตกในวงรอบการเป็นสัดตามธรรมชาติ หรือถุงไข่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2.5 ซม. อาจมี 1 ใบหรือมากกว่าก็ได้ ซึ่งลักษณะโครงสร้างนี้คงอยู่ได้นานกว่า 10 วัน และมีผลทำให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดไปจากปกติ ถุงน้ำในรังไข่เป็นผลจากการไม่ตกไข่ตามปกติของถุงไข่ที่เจริญเต็มที่ เป็นผลให้ไม่มีวงรอบการเป็นสัดตามปกติ ทำให้แม่โคแสดงอาการไม่มีวงรอบการเป็นสัดหรือเป็นสัดบ่อยๆ สาเหตุโน้มนำของโรคถุงน้ำในรังไข่มักเป็นผลร่วมกันระหว่างการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความเครียด การให้ผลผลิตน้ำนมมาก อายุโค และผลจากอาหาร
อุบัติการณ์เกิดโรคถุงน้ำในรังไข่พบมากในโคอายุ 4–6 ปี โดยพบได้น้อยมากในแม่โคท้องแรก และมีความสัมพันธ์กับการให้ผลผลิตน้ำนม โดยแม่โคให้ผลผลิตน้ำนมสูงจะพบการเกิดโรคได้สูงและพบว่าโคที่เคยเป็นโรคนี้ในท้องที่ผ่านมาจะพบการเป็นโรคนี้ได้อีกในท้องต่อไป
ปัจจุบันการรักษาโรคถุงน้ำในรังไข่นั้นจะนิยมใช้ฮอร์โมน ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาที่แนะนำให้ใช้หากโคมีอาการเป็นสัดไม่ปกติ และหากมีการตรวจรักษาที่รวดเร็วจะเพิ่มโอกาสหายจากโรคได้
การป้องกันโรคถุงน้ำในรังไข่ สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน คือ
- คัดเลือกสายพันธุ์โคพ่อพันธุ์ญาติพี่น้องของแม่พันธุ์และตัวแม่พันธุ์เองต้องไม่มีประวัติเป็นถุงน้ำในรังไข่   
- ป้องกันไม่ให้โคอ้วนในระยะพักรีดนม (ไม่ควรมีคะแนนความสมบูรณ์ของรูปร่างมากกว่า 4.0)
                - มีโปรแกรมการล้วงตรวจระบบสืบพันธุ์หลังคลอด 45 – 60 วัน และต้องตรวจโรคทุกตัวที่ไม่แสดงอาการเป็นสัดหลังคลอด 60 วัน หรือเป็นสัดบ่อยๆ หรือเป็นสัดไม่ตรงรอบ เพื่อให้การรักษาได้เร็วช่วยให้การตอบสนองต่อการรักษาได้ดี  
     5. มดลูกทะลักหรือช่องคลอดทะลัก (Vaginal Prolapse)
ภาวะมดลูกทะลักหรือช่องคลอดทะลัก (Vaginal Prolapse) จะพบได้มากในแม่โคอายุมากๆ แม่โคอาจมีอาการไข้น้ำนมและแม่โคลงนอน อาจพบในแม่โคที่มีการช่วยคลอดโดยการดึงลูกโดยเฉพาะในโคสาวท้องแรก หรือการเกิดปัญหารกค้างแล้วเกิดมดลูกทะลักตามมา การแก้ไขภาวะมดลูกทะลักนั้น พบว่าหากตรวจพบการทะลักและจัดการดูแลให้เร็วที่สุด เมื่อพบว่าแม่โคเกิดมดลูกทะลักให้แยกแม่โคที่มดลูกทะลักออกจากฝูงให้อยู่คอกเดี่ยว เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดจากโคตัวอื่นที่จะมาดมเลียหรือกระแทกมดลูกส่วนที่ทะลักออกมา หลังจากนั้นให้หาผ้าสะอาดที่เปียกมาหุ้มห่อส่วนที่ทะลักออกมาไว้ หากเป็นไปได้ให้พยายามช่วยประคองส่วนที่ทะลักออกมาเพื่อลดการคั่งของเลือด แล้วให้ยาชาเฉพาะที่โคนหางเพื่อให้แม่โคลดการเกร็งเบ่งบีบมดลูก ทำความสะอาดมดลูกโดยน้ำเกลือหรือน้ำอุ่นที่สะอาด ตรวจสอบส่วนที่ทะลักออกมาว่ามีการฉีกขาดที่ส่วนใดหากมีให้ทำการเย็บให้เรียบร้อย แล้วดันมดลูกกลับอย่างนุ่มนวลและมั่นคง กรณีมดลูกหรือช่องคลอดออกมามากและนานอาจบวมน้ำต้องลดการบวมโดยใช้น้ำตาลทราย 2–3 กก. โรยส่วนที่ยื่นออกมาจะช่วยลดขนาดและดันกลับได้ง่ายขึ้น หลังดันมดลูกกลับเข้าที่แล้วให้ยาปฏิชีวนะชนิดที่เตรียมเพื่อให้ทางมดลูกผ่านเข้าทางช่องคลอดและให้ยาปฏิชีวนะชนิดออกฤทธิ์กว้างเข้าทางระบบ เย็บปิดปากมดลูกโดยวัสดุที่ใช้เหมาะสม และให้ทำการตรวจซ้ำหลังการแก้ไข 24 ชม. ซึ่งสามารถเอาวัสดุเย็บออกได้เมื่อแน่ใจว่าขนาดมดลูกเล็กลงและคอมดลูกหดตัวเล็กลงแล้ว หรือไม่มีโอกาสที่มดลูกจะทะลักกลับมาอีก (ประมาณ 5–7 วัน) และให้ติดตามรักษาปัญหามดลูกอักเสบที่อาจพบตามมาได้

การรักษาแก้ไขปัญหาการผสมติดยาก
โดยทั่วไปของวงจรชีวิตแม่โคมักจัดโดยสถานภาพการให้นมและการสืบพันธุ์ จะมีการหมุนเวียนเป็นวงจรนับจากวันคลอด ให้ผลผลิตน้ำนม ผสมพันธุ์ หยุดรีดนม พักท้องและคลอดโคที่มีประสิทธิภาพสูงจะสามารถให้ลูกปีละ 1 ตัว และเดินทางตามวงจรชีวิตอย่างสม่ำเสมอ การประเมินศักยภาพการผลิตโดยมีค่าดัชนีการผลิตเข้าชี้วัดจะช่วยให้เกษตรกร นักส่งเสริม หรือนายสัตวแพทย์ทำงานแก้ไขปัญหาได้ตรงกับสาเหตุ และทราบว่าสถานภาพของฟาร์มเป็นอย่างไร จึงควรนำข้อมูลฟาร์มมาใช้ประกอบการจัดการฟาร์มและการจัดการการสืบพันธุ์ โดยดัชนีบ่งชี้ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ของฟาร์มโคนม (ค่าเฉลี่ยฝูง) ที่ควรเป็น คือ
* โคสาวคลอดท้องแรกอายุไม่เกิน 27 – 30 เดือน   
* ระยะพักท้องหลังคลอด 40 – 45 วัน (มดลูกเข้าอู่)  
* จำนวนโคที่เป็นสัดหลังคลอดภายใน 60 วัน มากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์  
* ระยะวันเฉลี่ยหลังคลอดถึงวันผสมครั้งแรกไม่เกิน 70 วัน  
*ระยะวันเฉลี่ยหลังคลอดถึงวันผสมติดไม่เกิน 90 วัน  
* จำนวนโคตั้งท้องเมื่อตรวจท้องที่ 45 – 60 วัน หลังผสมมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์  
* โคผสมมากกว่า 3 ครั้ง น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์  
* อัตราผสมติดครั้งแรกหลังคลอดมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์  
* ระยะห่างระหว่างวันผสม  
- น้อยกว่า 4 วัน จำนวนโคที่พบควรน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์  
- 5 – 17 วัน จำนวนโคที่พบควรน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์  
- 18 – 24 วัน จำนวนโคที่พบควรน้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์  
- มากกว่า 24 วัน จำนวนโคที่พบควรน้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์  
* เปอร์เซ็นต์โคที่ไม่ตั้งท้องนานมากกว่า 120 วัน หลังคลอด ไม่ควรเกิน 10 เปอร์เซ็นต์  
* ระยะห่างการตกลูกเฉลี่ย 12 เดือน  
* การคัดทิ้งเนื่องจากปัญหาความสมบูรณ์พันธุ์น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์  
* อัตราการแท้งในฝูงน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์  
อย่างไรก็ตาม ค่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นในฟาร์มโคนมที่กล่าวข้างต้น เป็นค่าที่ต่างประเทศใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินประสิทธิภาพในฟาร์ม ในบางประเทศอาจมีค่าต่างบ้างแต่ดัชนีหลักๆ แล้วจะเป็นค่าใกล้เคียงกับที่กล่าวข้างต้น ในประเทศไทยค่าจะเบี่ยงเบนออกในทางที่แสดงว่าประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่าเกณฑ์ข้างต้นอาจเนื่องจากระบบการเลี้ยงฟาร์มรายย่อย เกษตรกรไม่คัดโคที่ไม่ให้ผลผลิตออกจากฝูง การบริการสุขภาพและการสืบพันธุ์ยังทำได้ไม่ครอบคลุมเป็นโปรแกรมสม่ำเสมอ ด้วยเกษตรกรไม่เข้าใจและไม้ให้ความสำคัญในการประเมินประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการฟาร์มในเชิงการป้องกันและเฝ้าระวัง ผลตอบแทนจากอาชีพและระบบราคาน้ำนมยังไม่จูงใจให้คำนึงถึงประสิทธิภาพการผลิตมากเท่าในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดที่บุคลากรที่ชำนาญงานด้านนี้ยังมีจำนวนจำกัด โดยเฉพาะระดับนายสัตวแพทย์ อย่างไรก็ตาม เจ้าของฟาร์ม นักส่งเสริม หรือนักสัตวแพทย์ ต้องมีแนวทางในการรักษาและป้องกันการผสมติดยาก ที่สามารถทำได้ ดังนี้
1.การตรวจแม่โคอย่างสม่ำเสมอและติดตามผลการรักษาในโคที่มีปัญหาความสมบูรณ์พันธุ์ ประสิทธิผลของการจัดการจะได้เมื่อมีการนำไปปฏิบัติโดยมีบุคลากรในฟาร์มงานร่วมกันคือ เกษตรกรเจ้าของฟาร์ม หรือผู้จัดการฟาร์มที่มีความกระตือรือร้นและความรับผิดชอบสูง ทำงานร่วมกับนายสัตวแพทย์ และผู้ผสมเทียมในฟาร์มโคที่ต้องทำการตรวจระบบสืบพันธุ์และสุขภาพ การค้นหาโคที่มีปัญหาสุขภาพหรือปัญหาทางการสืบพันธุ์ได้เร็ว จะช่วยการลดการสูญเสียจากการผสมติดยากได้ โดยประวัติโคที่ได้จากบันทึกของฟาร์มที่มีประวัติต่อไปนี้ต้องนำมาตรวจ  
- โคที่มีปัญหาคลอดยาก รกค้าง มดลูกอักเสบและมีอาการแทรกซ้อนหลังคลอด ควรทำการตรวจระบบสืบพันธุ์หลังคลอด  
- โคที่มีเมือกที่ผิดปกติออกมาจากช่องคลอด เช่น หนอง เมือกขุ่น  
- โคที่แท้ง  
- โคที่แสดงการเป็นสัดบ่อย เป็นสัดไม่ปกติ ไม่ตรงรอบ  
- โคที่ตรวจไม่พบว่าการเป็นสัด 42 วันหลังคลอดและยังไม่ถูกผสม 63 วันหลังคลอด  
- โคที่ผสมแล้ว 42 วันไม่กลับเป็นสัด โคอาจท้องหรืออาจเป็นสัดแล้วตรวจไม่พบ หรือมีความผิดปกติอื่นๆ  
- โคไม่เป็นสัดหลังคลอด อาจเนื่องจากรังไข่ไม่ทำงาน หรือตรวจการเป็นสัดไม่ได้  
- โคที่ผสมซ้ำมากกว่า 5 ครั้ง  
- โคที่เคยตรวจว่าท้องแล้ว แต่แสดงอาการเป็นสัดในภายหลัง  
- โคสาวที่ไม่สัดเมื่ออายุมากกว่า 15 เดือน  

     2. ควรมีการประเมินประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ของโคในฝูงอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ทราบว่าการจัดการฟาร์มอยู่ในเกณฑ์ระดับใด ต้องเร่งหาสาเหตุและทำการแก้ไขที่ด้านใดก่อน ซึ่งโปรแกรมการจัดการฝูงโคเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มการผลิตในฟาร์มได้
* อายุการผสมพันธุ์ในโคสาว น้ำหนักตัวมากกว่า 280 – 300 กก. อายุ 15 เดือนขึ้นไป  
มีโปรแกรมการล้วงตรวจระบบสืบพันธุ์หลังคลอด 45 – 60 วัน และต้องตรวจโรคทุกตัวที่ไม่แสดงอาการเป็นสัดหลังคลอด 60 วัน หรือเป็นสัดบ่อยๆ หรือเป็นสัดไม่ตรงรอบ เพื่อให้การรักษาได้เร็วช่วยให้การตอบสนองต่อการรักษาได้ดี 

3.การจัดการที่ดีในโคระยะพักรีดนมหรือระยะรอคลอด และขณะคลอดลูก จะช่วยลดปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ได้ เช่น   
- ระยะพักรอคลอดอย่าให้แม่โคอ้วน (คะแนนความสมบูรณ์รูปร่างน้อยกว่า 4) โดยปรับอาหารในระยะพักรอคลอดให้สัดส่วนแคลเซียมต่ำลงเพื่อป้องกันปัญหาไข้น้ำนมหลังคลอด   
- ให้วิตามินเอดีอี ก่อนคลอด 2สัปดาห์เพื่อช่วยลดปัญหารกค้างและไข้น้ำนมหลังคลอด   
- ขณะรอคลอดคอกพักรอคลอดต้องแห้งสะอาด
- หากต้องช่วยคลอดให้ทำอย่างสะอาดนุ่มนวลและหากช่วยดึงลูกในช่องคลอดต้องสอดยาปฏิชีวนะเข้าช่องคลอด และดูอาการแทรกซ้อน การกินอาหาร การให้น้ำนม ตรวจวัดไข้ และแจ้งสัตวแพทย์หากแม่โคมีอาการผิดปกติ  
อย่างไรก็ตาม การจัดการเพื่อให้แม่โคมีประสิทธิภาพทางการสืบพันธุ์ที่ดีในฝูงที่มีสถานะความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำจะต้องมีการปรับแก้ปัญหาให้ตรงจุด และฝูงที่มีความสมบูรณ์พันธุ์ดีต้องรักษาระดับความสมบูรณ์ให้คงดีตลอดเวลา โดยหัวใจสำคัญในการรักษาให้ความสมบูรณ์พันธุ์อยู่ในระดับดีตลอดคือ การมีข้อมูลที่บันทึกถูกต้องและเป็นปัจจุบันมากที่สุด  

อ้างอิง
การผสมเทียม. 2554. http://www.dld.go.th/airc_urt/th/
กองผสมเทียม กรมปศุสัตว์ คู่มือฝึกอบรมการผสมเทียมโค. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย กทม. 190 หน้า
พรรณพิไล เสกสิทธิ์. 2548. เทคโนโลยีการผสมเทียมและปัญหาการสืบพันธุ์ปศุสัตว์. สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
สัตวแพทยสภา. 2548. การผสมเทียมโค. กรมปศุสัตว์. การฝึกอบรมการผสมเทียมโคภายใต้โครงการสงเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น